นางสุวรรณี ชลานุเคราะห์

นางสุวรรณี ชลานุเคราะห์

นางสุวรรณี ชลานุเคราะห์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-ละครรำ) พุทธศักราช ๒๕๓๓
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย

ย้อนหลังกลับไปเมื่อเกือบ ๗๐ ปีก่อน มีเด็กหญิงตัวเล็กๆ วัยเพียง ๖ ขวบ คนหนึ่ง ได้มีโอกาสเข้าไปชมการฝึกซ้อมของคณะละครหลวงในพระบรมมหาราชวังจนเกิดความสนใจอยากจะเป็นนักแสดงละครบ้าง ในวันนี้ เด็กหญิงคนนั้นได้กลายมาเป็นศิลปินอาวุโสวัย ๗๕ ปีบริบูรณ์ ผู้สมปรารถนาด้วยสิ่งที่หวังไว้แต่วัยเด็ก ทว่าท่านหาได้เป็นเพียงนักแสดงละครธรรมดาตามที่เคยใฝ่ฝันไม่ หากได้เป็นถึงศิลปินแห่งชาติผู้เปี่ยมด้วยความสามารถจนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปนามว่า ครูสุวรรณี ชลานุเคราะห์

ครุสุวรรณี ชลานุเคราะห์ เกิดเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙ ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ ๗๕ ปี ท่านเริ่มมีความสนใจทางด้านนาฏศิลป์ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้มีโอกาสไปชมการฝึกซ้อมละครหลวงที่ท้ายพระบรมมหาราชวังเมื่ออายุได้เพียง ๖ ปี โดยมี คุณมณฑาฯ นักแสดงละครหลวง ผู้ซึ่งท่านนับถือเป็นพี่ เป็นผู้พาเข้าไปชม เมื่อได้ไปเห็นการฝึกซ้อมละครในครั้งนั้น ท่านก็รู้สึกชอบขึ้นมาทันทีจึงได้ขอร้องให้คุณมณฑาพาไปสมัครเป็นตัวละครหลวงภายใต้การควบคุมดูแลของพระยานัฏกานุรักษ์ และคุณหญิงเทศ ในที่สุด ท่านก็ได้เข้ารับการฝึกฝนเป็นตัวละครหลวงรุ่นจิ๋วในราชสำนัก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมดังปรารถนา โดย ท่านเจ้าคุณและคุณหญิงนัฏกานุรักษ์ได้คัดเลือกให้ท่านหัดเป็นตัวนาง โดยมี ครูวิไล และครูจาด เป็นผู้ฝึกสอนเบื้องต้น

ครูสุวรรณีเข้ารับการฝึกหัดละครอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๕ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในราชสำนัก ยังผลให้คณะละครหลวงต้องมีอันล้มเลิกไปโดยปริยาย บิดาของครูสุวรรณีจึงได้พาท่านไปสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนราษฎร์สามัคคีอยู่ระยะหนึ่ง

จากนั้นไม่นาน คือในปี ๒๔๗๗ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นได้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางค์ขึ้น บิดาของครูสุวรรณีซึ่งทราบว่าครูสุวรรณียังมีความรักในวิชานาฏศิลป์อยู่อย่างมั่นคง จึงได้พาท่านไปสมัครเข้าเรียนที่นั่นในปีต่อมา โดยเริ่มเรียนในชั้นประถมปีที่ ๔ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวนางเช่นที่เคยฝึกหัดมาแต่ก่อนเก่า ครั้นต่อมาเมื่อเข้าสู่วัยสาวรุ่น รูปร่างของครูสุวรรณีที่เคยป้อมและเตี้ยก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นผอมและสูงขึ้น ครูลมุล ยมะคุปต์ ผู้ซึ่งเป็นครูที่สอนกระบวนรำตัวพระ จึงได้ให้เปลี่ยนมาฝึกหัดเป็นตัวพระ ทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถในกระบวนรำทั้งตัวนางและตัวพระเป็นอย่างดี

ในระหว่างที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนนาฏดุริยางค์ ของกรมศิลปากรนี้ ครูสุวรรณีได้มีโอกาสเล่าเรียนครูนาฏศิลป์หลายท่าน ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบรมครูทางนาฏศิลป์ไทยในยุคนั้นทั้งสิ้นอันได้แก่ คุณหญิงนัฏกานุรักษ์ หม่อมครูต่วน ภัทรนาวิก ครูลมุล ยมะคุปต์ ครูมัลลี คงประภัศร์ (ครูหมัน) ครูหุ่น ปัญญาพล ครูน้อม และ ครูเกษร เป็นต้น ซึ่งท่านครูทั้งหลายเหล่านี้ได้ทุ่มเททั้งกายและใจถ่ายทอดความรู้ตามระเบียบแบบแผนที่สืบทอดต่อกันมาแต่ครั้งโบราณอย่างเคร่งครัด ทำให้ความสามารถในเชิงนาฏศิลป์ของครูสุวรรณี ค่อยๆ พัฒนาขึ้นโดยลำดับจนกระทั่งมีความสามารถเป็นเลิศทางกระบวนรำในที่สุด

ครูสุวรรณีได้เล่าเรียนอยู่ที่โรงเรียนนาฏดุริยางค์จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เมื่อปี ๒๔๘๕ และในปี ๒๔๘๖ ท่านก็ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นศิลปินสำรองของกรมศิลปากรก่อนที่จะได้รับตำแหน่งศิลปินจัตวาอันดับ ๓ ในแผนกนาฏศิลป์ กองการสังคีต กรมศิลปากรในปีต่อมา ในขณะที่รับราชการอยู่ที่กรมศิลปากรนั้น ท่านยังได้มีโอกาสเล่าเรียนเพิ่มเติมกับ ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี หลวงวิลาศวงศ์งาม และ ครูอร่าม อินทรนัฏ ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นปรมาจารย์ผู้มีความสามารถพิเศษ และมีลีลา ตลอดจนชั้นเชิงอันเป็นแบบฉบับเฉพาะตัว ทำให้ครูสุวรรณีผู้มีพื้นฐานทางนาฏศิลป์อันมั่นคงอยู่แล้ว ยิ่งได้รับเอาความรู้ที่แปลกใหม่มาพัฒนากระบวนรำ จนประสบความสำเร็จในวิชาชีพอย่างงดงาม

ครูสุวรรณี ชลานุเคราะห์ มีผลงานทั้งทางด้านการเป็นนักแสดง ผู้ฝึกซ้อม และผู้กำกับการแสดงมากมาย โดยผลงานด้านการแสดงนั้น ท่านเคยแสดงทั้งละครนอก ละครใน ละครพันทาง ละครพูด ตลอดจนระบำต่างๆ ทั้งแบบราชสำนัก และพื้นเมืองนับพันครั้ง โดยในการแสดงละครส่วนใหญ่ท่านจะได้รับบทเป็นพระเอก เช่น อิเหนา พระไวย พระลอ สุวรรณหงษ์ พระสังข์ ฯลฯ และนานๆ ครั้งก็จะได้รับบทเป็นตัวนาง เช่น นางละเวง เป็นต้น ส่วนในการแสดงระบำแบบราชสำนัก ท่านมักจะได้รับมอบหมายให้แสดงเป็นผู้ชายคู่หน้า แต่หากเป็นการแสดงระบำพื้นเมือง ท่านก็มักจะแสดงเป็นผู้หญิงคู่หน้าเสมอ นอกจากการแสดงในประเทศแล้ว ครูสุวรรณียังเคยเดินทางไปแสดงนาฏศิลป์ในต่างประเทศหลายครั้ง เช่น สหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อินเดีย สหรัฐอเมริกา และ สิงคโปร์ เป็นต้น

ส่วนผลงานด้านการเป็นผู้ฝึกซ้อมและกำกับการแสดงนั้น ครูสุวรรณี ชลานุเคราะห์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ฝึกซ้อมและกำกับการแสดงประเภทต่างๆ ให้กับคณะนักแสดงของกรมศิลปากร นักเรียนของวิทยาลัยนาฏศิลป์ ตลอดนักแสดงสมัครเล่น และนักเรียนโรงเรียนต่างๆ มากมายนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งยังเคยเป็นผู้ควบคุมคณะนักแสดงไปแสดงในต่างประเทศหลายครั้ง เช่น ประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน และ สิงคโปร์ เป็นต้น นอกจากนั้น ท่านยังเคยแสดงท่ารำประกอบในหนังสือ เพื่อเป็นแม่แบบให้นักเรียนนาฏศิลป์และผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้าหลายเล่มอีกด้วย ท่านได้ลาออกจากราชการก่อนครบเกษียณอายุเพียงไม่กี่เดือน หลังจากนั้นมา ท่านก็ได้อุทิศตนถ่ายทอดความรู้ทางนาฏศิลป์ให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไปตราบจนปัจจุบัน ทั้งยังได้ประดิษฐ์ท่ารำชุดต่างๆ ขึ้นมาใหม่หลายชุด

ครูสุวรรณี ชลานุเคราะห์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักแสดงที่มีความสามารถเป็นเลิศทางกระบวนรำ เป็นครูที่อุทิศตนให้กับศิษย์อย่างเต็มที่ เป็นผู้ที่อนุรักษ์แบบแผนของนาฏศิลป์ไทยไว้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทั้งยังเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างยอดเยี่ยม ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-ละครรำ) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๓

เมื่อคราวที่ผมได้ไปถ่ายภาพ ครูศิริวัฒน์ ดิษยนันทน์ ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อหลายเดือนก่อนนั้น มีมุมที่สวยงามสำหรับถ่ายภาพอยู่หลายมุมซึ่งผมได้เลือกมุมสวยมุมหนึ่งเพื่อถ่ายภาพครูศิริวัฒน์ให้ชมกันไปแล้ว มาคราวนี้ เมื่อมีโจทย์ที่จะต้องถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติทางด้านนาฏศิลป์อีกท่านหนึ่ง ผมจึงหวนกลับไปที่นั่นอีกครั้ง เพื่อใช้มุมกล้องอีกมุมหนึ่งที่เคยหมายตาเอาไว้ มาถ่ายภาพ ครูสุวรรณี ชลานุเคราะห์ ในครั้งนี้ หากดูอย่างผิวเผิน ก็อาจรู้สึกว่าผมใช้ที่ซ้ำเดิมกับของครูศิริวัฒน์เพราะบรรยากาศดูคล้ายกันมาก แต่หากดูให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่ารายละเอียดในแต่ละภาพมีข้อแตกต่างกันมาก จุดสำคัญที่ทำให้ผมเลือกมุมนี้มาใช้ก็คือบริเวณด้านขวาของภาพ มีฉากไม้เขียนลายรดน้ำศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งมีภาพนางละครกำลังร่ายรำอย่างสวยงามปรากฏอยู่ อันจะช่วยส่งเสริมภาพครูสุวรรณีได้เป็นอย่างดี ผมได้ขอให้ครูสุวรรณีแสดงท่าคล้ายกับภาพที่ปรากฏอยู่นั้น (ที่ว่า “คล้าย” นั้น เป็นเพราะท่ารำนั้นไม่สามารถทำให้เหมือนได้เพราะในภาพเขียนนั้น แขนของนางละครอ่อนโง้งชดช้อยเกินกว่าที่มนุษย์ผู้สมประกอบทั้งปวงจะพึงกระทำได้) เมื่อครูสุวรรณีเข้าประจำที่แล้ว ผมจึงได้ทดลองถ่ายภาพโพลารอยด์เพื่อดูมุมกล้อง แสงเงา ตลอดจนท่ารำ เพื่อความมั่นใจว่าจะได้ภาพที่ดีที่สุด ในการถ่ายภาพนี้ ผมต้องใช้ไฟถ่ายภาพถึง ๔ ดวง ซึ่งนับว่ามากเกินกว่าที่ผมใช้ตามปกติ โดยดวงหลักตั้งไว้ข้างๆ ครูสุวรรณี เป็นไฟที่ให้แสงสว่างหลักที่ใบหน้าและลำตัวของท่าน ดวงที่ ๒ ตั้งอยู่ข้างหลังกล้องเพื่อช่วยเปิดเงาไม่ให้เข้มเกินไป ดวงที่ ๓ อยู่หลังฉากลายรดน้ำส่องตรงมาที่เรือนผมทำให้เกิดแสงสว่างบริเวณเรือนผมของท่าน และดวงที่ ๔ ส่องเข้ากำแพงด้านข้างเพื่อให้สะท้อนกลับไปให้แสงสว่างแก่กำแพงที่เป็นฉากหลังที่เห็นในภาพอย่างนุ่มนวล ซึ่งในตอนแรก ผมมิได้ใช้ไฟดวงนี้ ทำให้ฉากหลังมืดมากเนื่องจากกำแพงอยู่ไกลออกไปพ้นระยะที่แสงไฟทั้ง ๓ ดวงแรกจะส่องไปถึง เมื่อได้ทุกอย่างที่ต้องการแล้วผมก็เรียนครูสุวรรณีว่าผมพร้อมที่จะถ่ายจริงพร้อมกับเดินกลับไปเพื่อบรรจุฟิล์ม แต่ทันใดนั้น ผมก็ต้องใจหายวาบจนเหงื่อแตกท่วมตัวเมื่อพบว่ากล่องบรรจุฟิล์มชนิดบรรจุ ๕ ม้วน ที่ผมนำมานั้น เป็นกล่องเปล่า! โดยมิได้นึกเฉลียวใจมาก่อน ผมรู้สึกเกรงใจและอับอายที่จะต้องเรียนให้ครูสุวรรณีทราบถึงความสะเพร่าอย่างยิ่งของผมนี้ แต่ก็ไม่มีทางเลี่ยง ก่อนที่จะเรียนท่าน ผมได้รีบโทรศัพท์เพื่อสืบดูว่าจะมีร้านใดบ้างที่ใกล้ที่สุดที่จะสามารถซื้อฟิล์มชนิดที่ผมต้องใช้ซึ่งไม่มีขายในร้านถ่ายรูปทั่วไป ซึ่งก็ได้ทราบว่าร้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ห้างซ็นทรัลปิ่นเกล้า จึงได้ขอให้จักรกฤษณ์รีบขับรถไปซื้อโดยด่วน ส่วนผมเองก็เดินหน้าละห้อยไปสารภาพความจริงกับครูสุวรรณีซึ่งกำลังรอให้ผมถ่ายภาพอยู่ใกล้ๆ นั้น แต่เมื่อท่านทราบเรื่องแล้ว แทนที่จะมีทีท่าไม่พอใจ ท่านกลับกล่าวด้วยความเมตตาว่า “ไม่เป็นไร ไม่ได้รีบไปไหน รอได้” ทำให้ผมรู้สึกโล่งใจขึ้นเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังได้ชวนผมคุยเพื่อฆ่าเวลาโดยเล่าเรื่องเก่าๆ เมื่อสมัยยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนนาฏดุริยางค์อันตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยเป็น “วังหน้า” ในอดีต ซึ่งในปัจจุบันบริเวณดังกล่าวก็คือบริเวณที่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั่นเอง และเพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนท่านได้พาผมออกไปเดินชมบริเวณต่างๆ ที่ท่านเคยใช้ชีวิตอยู่เมื่อกว่า ๖๐ ปีก่อน ด้วยน้ำเสียงและท่าทางที่เป็นสุขอย่างยิ่งเหมือนได้กลับมายังบ้านเที่มีความผูกพันเป็นพิเศษอีกครั้ง ความทรงจำเก่าๆ ของท่านได้ผุดขึ้นมากมายและแม่นยำ นับตั้งแต่ต้นฝรั่งที่เคยมาเด็ดผลไปรับประทาน ตุ่มเก่าที่ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม เขาหินที่ตั้งศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์อันเคยเป็นที่พึ่งทางใจและเป็นที่หลบระเบิดในยามสงคราม รอยบนพื้นที่เคยเป็นที่ตั้งตุ๊กตาจีนที่ปัจจุบันย้ายไปเสียแล้ว ระเบียงอาคารพระที่นั่งที่เคยฝึกหัดรำ ฯลฯ ที่สำคัญที่สุด ท่านได้พาผมเดินขึ้นไปบนพระตำหนักของ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อไปชมบริเวณที่ท่านเคยมาเรียนกระบวนรำหน้าพาทย์ อันถือกันว่าเป็นกระบวนรำชั้นสูงที่สุด พร้อมทั้งชี้จุดโน้นจุดนี้ประกอบคำอธิบายอย่างตั้งอกตั้งใจเป็นที่เพลิดเพลินแก่ผมอย่างยิ่ง จนเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอเราเดินกลับไปถึงพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เพียงครู่เดียว จักรกฤษณ์ก็กลับมาพร้อมฟิล์มที่ผมใช้ถ่ายภาพนี้ และเราก็ได้เริ่มงานกันในทันที ครูสุวรรณีย้ำกับผมอย่างหนักแน่นว่าขออย่าให้เกรงใจท่าน ต้องการอย่างไรก็ขอให้บอกเพื่อจะให้ได้ภาพที่ดีที่สุด ผมจึงทำงานอย่างสบายใจและสำเร็จลงอย่างราบรื่น ได้ภาพยอดศิลปินแห่งชาติอีกท่านหนึ่งมาให้ได้ชมกันนี่แหละครับ

ตลอดระยะเวลาเกือบ ๗๐ ปี ของชีวิตการเป็นนักแสดงนาฏศิลป์ไทย ครูสุวรรณี ชลานุเคราะห์ ได้เรียนรู้และสร้างสมประสบการณ์ในวิชาชีพมาจนกล้าแกร่งและก้าวมาถึงจุดสูงสุดแห่งเกียรติยศ ซึ่งนามและเกียรติคุณของท่านจะได้รับการจารึกไว้บนแผ่นดินไทยในฐานะปรมาจารย์แห่งวงการนาฏศิลป์ไทยในยุคสมัยของท่านอันสืบทอดรับช่วงจากยุคของบรมครูทั้งหลายในอดีตกาล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.