เรียนภาษาอังกฤษ

ทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษ?

คำถามที่พบบ่อยมากจากประสบการณ์สอนภาษาอังกฤษในกรุงเทพมานานกว่า 4 ปีคือ ทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษ? 

คำตอบต่อคำถามนี้ง่ายมาก การปฏิบัติก็ไม่ซับซ้อน นั่นคือ
(1) ตั้งเป้าหมาย
(2) กำหนดวิธีการ และ
(3) ลงมือปฏิบัติ

(1) ตั้งเป้าหมาย

เป้าหมายในการเรียนภาษาอังกฤษที่มีมากมายและสามารถแยกย่อยออกไปได้หลายแขนง ไม่ว่าจะเพื่อสอบ เพื่อใช้งาน หรือเพื่อการเรียนการสอนนั้น ต้องมีเป้าหมายหลักอย่างเดียวกันนั่นคือผู้เรียนต้องสามารถ (1) ฟังออก (2) พูดได้ (3) อ่านเก่ง และ (4) เขียนคล่อง ได้ก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อบรรลุเป้าหมายหลักทั้ง 4 อย่างเรียบร้อยแล้ว การจะมุ่งไปด้านใดๆ เป็นการเฉพาะ ก็สามารถเป็นไปได้ทั้งหมด ผู้เรียนที่ไม่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ จะตั้งเป้าหมายในการเรียนภาษาอังกฤษไว้ผิดลำดับขั้นตอน เช่น บางคนคิดว่าขอแค่หาคนมาติวข้อสอบเพื่อไปสอบ TOEIC หรือ TOEFL ให้ได้คะแนนตามเกณฑ์ก็พอ แล้วค่อยไปหาทางบรรลุเป้าหมายหลักทั้ง 4 ทีหลัง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะคนที่จะสามารถได้คะแนนตามเกณฑ์ TOEIC TOEFL หรือ IELTS ได้นั้นจะต้องบรรลุเป้าหมายทั้ง 4 ให้ได้ก่อน ส่วนการเรียนเพื่อใช้งานก็เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น “เรียนเพื่อไปสัมภาษณ์งาน” การเรียนเพื่อสัมภาษณ์งานนั้นผู้เรียนไม่ควรทำแค่การเรียนรู้วิธีการสัมภาษณ์ ดูตัวอย่างคำสัมภาษณ์ หรือฝึกแต่งประโยคเพื่อตอบคำสัมภาษณ์ให้ได้เท่านั้น อันดับแรกสุดเลยนั้นผู้เรียนควรจะต้องฝึกฟังกับพูดภาษาอังกฤษให้คล่องก่อน เพราะถ้าผู้เรียนยังฟังฝรั่งพูดไม่ออก ยังพูดภาษาอังกฤษได้ไม่คล่อง ยังพูดแบบเคอะๆเขินๆ ยังพูดลิ้นพันกันอยู่ การเรียนวิธีการการสัมภาษณ์งานที่ได้ลงทะเบียนไปก็สูญเปล่า

(2) กำหนดวิธีการ

เมื่อได้เป้าหมาย [นั่นคือเรียนเพื่อให้ (1) ฟังออก (2) พูดได้ (3) อ่านเก่ง และ (4) เขียนคล่อง] มาแล้ว ต่อไปก็เป็นการหาวิธีการที่เหมาะสม มีคนเก่งภาษาอังกฤษมากมายในบ้านเรา แต่ละคนก็มีวิธีการเรียนที่แตกต่างกัน บางคนเลือกที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศเพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านภาษาอังกฤษ บางคนลงทะเบียนเรียนกับโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษใกล้บ้าน บางคนหาซื้อคู่มือการเรียนภาษาอังกฤษมาศึกษาเองที่บ้าน การฝึกเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง 4 นั้นจะประกอบไปด้วยเครื่องมือและวิธีการสำหรับใช้ฝึกดังนี้ คือ a. การฝึกฟังจากคลิบ b. ฝึกอ่านจากหนังสือ c. ฝึกเขียนจากการได้ยิน และ d. ฝึกพูดตามเจ้าของภาษา ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาต้องฝึกด้วยจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมจำนวนหนึ่ง [อย่างต่ำ 240 ชั่วโมง] ซึ่งสิ่งที่จำเป็นที่สุดของผู้เรียนคือเรื่องของเวลาเพราะถ้าผู้เรียนไม่มีเวลาให้กับการฝึก การเตรียมเครื่องมือและวิธีการเอาไว้ก็สูญเปล่า

(3) ลงมือปฏิบัติ

เมื่อมีเป้าหมาย มีวิธีการแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือขั้นตอนที่จำเป็นที่สุด สำคัญที่สุด และท้าทายที่สุด ของการเรียนภาษาอังกฤษให้ประสบความสำเร็จ ซึ่ง “การบรรลุเป้าหมายทั้ง 4” นั้นแปลความได้อีกทีว่า “การมีทักษะ 4 อย่าง” คือมีทักษะในการฟัง มีทักษะในการพูด มีทักษะในการอ่าน และมีทักษะในการเขียน ตามลำดับ คำว่า “ทักษะ” ในภาษาไทยแปลว่า “ชำนาญ” นั่นคือผู้เรียนมีทักษะในด้านไหน ก็แปลว่ามีความชำนาญในด้านนั้นนั่นเอง การจะสร้างความชำนาญได้มีวิธีการอย่างเดียวคือ “ลงมือทำบ่อยๆ” ทำบ่อยจนชำนาญ คือฟังบ่อยๆ จนมีทักษะในการฟัง พูดบ่อยๆ จนมีทักษะในการพูด อ่านบ่อยๆ จนมีทักษะในการอ่าน และเขียนบ่อยๆ จนมีทักษะในการเขียน ส่วนการที่ผู้เรียนจะฟังอะไร พูดอะไร อ่านอะไร และเขียนอะไรนั้น ให้เป็นไปตามลำดับของเครื่องมือและวิธีการที่เตรียมเอาไว้

“ทำตามคู่มืออย่างเคร่งครัด” เป็นหัวใจของการปฏิบัติ ครั้งหนึ่ง Anna Pavlova นักบัลเล่ย์ที่ยิ่งใหญ่ของรัสเซียเคยกล่าวว่า “To follow, without halt, one aim: there’s the secret of success.” ขอเพียงผู้เรียนมุ่งมั่น (ในเป้าหมายที่ตั้งไว้) ไม่ลดละ (ความพยายามในการฝึกตามวิธีการที่เตรียมมา) และลงมือปฏิบัติ (จนครบทุกขั้นตอนดังที่ตั้งใจ) นั่นคือก้าวแรกของการประสบความสำเร็จ

โปรดระลึกไว้เสมอว่าความสำเร็จของคุณอยู่ไกล้แค่เอื้อมเท่านั้น ถ้าเพียงคุณ กล้าตั้งเป้าหมาย กล้ากำหนดวิธีการ และกล้าลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง คุณจะประสบความสำเร็จ โอกาสเป็นของคนที่ลงมือทำ คนที่ประสบความสำเร็จก่อนคุณ คือคนที่ทุ่มเทให้กับการลงมือปฏิบัติมาก่อนคุณนั่นเอง

ขอให้โชคดีกับการฝึกของคุณ

มีผู้เรียนมากมายที่ยังสับสนระหว่างคำว่าการเรียนเพื่อให้เกิดความรู้ กับการลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชำนาญ  “คนไทยทุกคนที่กำลังเรียนหนังสือในระดับชั้นมัธยมปลาย หรือที่เรียนจบชั้นมัธยมปลายในระบบการศึกษาของบ้านเรามาแล้วนั้น มีความรู้ภาษาอังกฤษมากพอที่จะนำมาฝึกให้เกิดความชำนาญได้” การเรียนเพื่อให้เกิดความรู้เปรียบได้กับการนั่งเรียน “วิธีการขับรถ” ในห้องเรียน ส่วนการลงมือปฏิบัติก็คือการลงไปนั่งหลังพวงมาลัยแล้วลงมือ “ขับรถไปตามถนน” นั่นเอง ถ้าจะเปรียบไปแล้วการฝึกภาษาอังกฤษมีอันตรายน้อยกว่าการฝึกขับรถมากมายนัก ผู้ฝึกไม่ต้องทำประกันชีวิต ไม่ต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุ แถมเครื่องมือและพลังงานในการฝึกก็ถูกกว่ากันจนเทียบไม่ได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.