ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย ฉบับที่ 2466 ปีที่ 48 ประจำวันอังคารที่ 22 มกราคม 2545
ผมได้ถ่ายภาพบุคคลในวงการศิลปวัฒนธรรมมาให้ชมกันในคอลัมน์นี้มากมายนับร้อยท่านแล้ว ในฉบับนี้ผมจะขอนำเสนอภาพและเรื่องราวของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นักพัฒนาท่านสำคัญผู้มีเกียรติประวัติในการทำงานที่งดงามจนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้รับผิดชอบงานในโครงการพระราชดำริมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งปัจจุบัน
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๒ ปัจจุบันอายุ ๖๒ ปี ในวัยเด็กได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อเรียนถึงระดับมัธยมก็ได้รับทุนจากสถานทูตฝรั่งเศสให้ไปเรียนต่อในระดับชั้น High School ที่โรงเรียนของฝรั่งเศสในประเทศเวียดนาม ท่านได้ศึกษาอยู่ที่นั่นเป็นเวลา ๖ ปี จนสถานการณ์ในประเทศเวียดนามเริ่มไม่สงบ จึงได้ย้ายไปเรียนต่อที่ประเทศลาวจนจบระดับอนุปริญญา สาขาปรัชญา จากนั้นก็ได้รับทุนการศึกษาให้ไปเรียนต่อทางด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมองต์ เปลิเอร์ (Mont Pellier) ประเทศฝรั่งเศสจนจบการศึกษาระดับปริญญาเอก จึงเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒
ท่านได้เข้ารับราชการครั้งแรกที่กองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในสมัยที่หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ เป็นประธาน โดยเริ่มไต่เต้าจากการเป็นข้าราชการชั้นโท จนมีความก้าวหน้าในราชการโดยลำดับ บทบาทสำคัญในระยะแรกของการรับราชการที่ทำให้ท่านได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา คือการนำเสนอแนวความคิดใหม่ในการต่อสู้กับภัยจากผู้ก่อการร้าย ด้วยวิธีใช้เครื่องมือทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเข้าแก้ไขปัญหาเพื่อหลีกเลี่ยงการรบราฆ่าฟันของคนไทยด้วยกัน แนวความคิดนี้ได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาลขณะนั้น ตลอดจนผู้บังคับบัญชาระดับสูง รวมทั้ง พลอากาศเอก สิทธิ์ เศวตศิลา องคมนตรี ซึ่งในขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดร.สุเมธ จึงมีโอกาสได้แสดงฝีมือในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของชาติในยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตจนเป็นที่ประจักษ์อย่างโดดเด่น
ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๕๒๔ รัฐบาลสมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ก.ป.ร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสภาพัฒน์ขึ้น ดร.สุเมธก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการคนแรก และภายหลังจากที่ได้มีการแยกสำนักงาน ก.ป.ร.ออกมาจากสภาพัฒน์ประมาณ ๑ ปี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ พร้อมกับรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ ก.ป.ร.ด้วย จนเมื่อท่านได้เป็นหัวแรงจัดทำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ เสร็จสิ้น จึงได้กลับไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ป.ร. เพียงตำแหน่งเดียวดังเดิมจนเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ยังเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการ และกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง แต่สิ่งที่ท่านถือเป็นเกียรติประวัติที่สำคัญที่สุด คือการที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งมูลนิธิ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ และยังคงดำรงตำแหน่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากความสามารถในการเป็นนักพัฒนาและนักบริหารคนสำคัญของชาติดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ยังมีชื่อเสียงดีเด่นในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริตอีกด้วย ตลอดระยะเวลาที่รับราชการอยู่จนปลดเกษียณ ท่านได้ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและสมถะไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยในเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวเลยแม้ว่างานที่ท่านรับผิดชอบจะเกี่ยวข้องกับเงินทองมากมายและยังสามารถให้คุณให้โทษกับผู้คนในวงการต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง เกียรติคุณทั้งหมดที่ได้กล่าวมาก็คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมคิดอยากจะบันทึกภาพท่านไว้ในฐานะที่เป็นแบบอย่างอันดีของข้าราชการที่เราอยากเห็นมากๆ ในประเทศไทยของเรา ซึ่งมักจะถูกนินทาว่าร้ายและถูกจัดอันดับจากสังคมโลกให้อยู่ในแถวหน้าๆ ของประเทศที่มีปัญหาด้านการทุจริตคอรัปชั่นมาเป็นเวลายาวนาน หากข้าราชการรุ่นใหม่ยึดถือท่านเป็นแบบอย่างกันมากๆ ประเทศของเราก็คงจะได้พ้นจากอันดับอัปยศนี้กันเสียที