ชินกร ไกรลาศ

ชินกร ไกรลาศ

นายชิน ฝ้ายเทศ (ชินกร ไกรลาศ) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) พุทธศักราช ๒๕๔๒
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย

อันนักร้องเพลงลูกทุ่งที่จะก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จในระดับแนวหน้าของประเทศได้นั้น แต่ละท่านจะต้องมีความสามารถพิเศษ และมีลักษณะเฉพาะตัวอันโดดเด่นจริงๆ ทั้งสิ้น ดังเช่น คุณชิน ฝ้ายเทศ หรือในนามอันเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงทั้งประเทศว่า “ชินกร ไกรลาศ” ศิลปินแห่งชาติในฉบับนี้ ก็เป็นผู้ที่มีน้ำเสียงในแบบฉบับเฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำแบบใคร ทั้งยังมีความคิดริเริ่มในการประยุกต์เอาเพลงพื้นบ้านต่างๆ มาใช้ในการแสดงดนตรีลูกทุ่งได้อย่างกลมกลืนจนเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังเป็นอย่างสูง และกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของท่านไปด้วย

คุณชินกร ไกรลาศ เกิดเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ที่จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันอายุ ๕๕ ปี เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักร้องด้วยการฝึกหัดขับร้องเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ก็ได้ไปสมัครเป็นนักร้องเพลงเชียร์รำวง จนกระทั่งวันหนึ่ง คุณชินกรกับเพื่อนรักที่ชื่อคุณประคอง ได้ทราบว่าครูพยงค์ มุกดา ได้นำวงดนตรีไปเปิดแสดงที่จังหวัดพิษณุโลก จึงได้ชักชวนกันไปชมการแสดงในวันนั้น และเมื่อการแสดงจบลง ทั้งคู่ก็ได้เข้าไปพบครูพยงค์ เพื่อสมัครเป็นนักร้องประจำวง ครูพยงค์จึงได้ให้ทั้ง ๒ ร้องเพลงให้ฟังหลังจากที่ได้ทดสอบเสียงแล้ว ครูพยงค์ก็ตัดสินใจรับคุณประคองเอาไว้เป็นนักร้องประจำวงแต่ผู้เดียว (ต่อมาคุณประคองได้ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังในนามว่า “ทิว สุโขทัย”)

หลังจากที่คุณประคองเดินทางติดตามครูพยงค์ มุกดา เข้ากรุงเทพฯได้ไม่นาน ก็ได้ช่วยพูดจาขอร้องครูพยงค์ มุกดา ให้รับคุณชินกรเพื่อนรักเข้าทำงานด้วย ซึ่งครูพยงค์ก็ไม่ขัดข้อง คุณชินกรจึงได้เข้าทำงานกับวงดนตรีของ ครูพยงค์ มุกดาตั้งแต่นั้นมา เมื่อแรกเริ่มเข้าทำงาน คุณชินกรยังไม่ได้มีโอกาสเป็นนักร้องในทันที แต่ได้ช่วยทำงานปัดกวาดสำนักงาน และหุงหาอาหารเลี้ยงคนในวงดนตรีทั้งหมดชนิดหนักเอาเบาสู้ จนกระทั่งเวลาผ่านไปกว่าปี คุณชินกรก็ได้รับโอกาสให้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก ในเพลง “ลูกทุ่งรำลึก” จากผลงานการแต่งของ สมคิด อัศวราช โดยใช้ชื่อในการขับร้องว่า “ชินกร ไกรลาศ”

ในระยะต่อมา คุณชินกรได้มีโอกาสร้องเพลงของ ครูประดิษฐ์ อุตตะมัง ครูเพลงชื่อดังในยุคนั้น ในเพลง “น้ำตาใจ” บันทึกลงแผ่นเสียงแผ่นเดียวกันกับคุณผ่องศรี วรนุช ซึ่งร้องเพลง “อาบน้ำตา” ภายหลังจากที่แผ่นเสียงนี้ออกเผยแพร่ ก็ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงมากเป็นพิเศษ ติดอันดับยอดนิยมอยู่เป็นเวลานาน ทำให้ชื่อ “ชินกร ไกรลาศ” โด่งดัง เป็นนักร้องยอดนิยมของแฟนเพลงทั่วไปในทันที และมีงานเพลงออกสู่สาธารณะมากมาย อาทิเพลง “ยอยศพระลอ” “คนน้อยใจ” “เพชฌฆาตใจ” “เพชรร่วงในสลัม” ฯลฯ

เมื่อประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงแล้ว คุณชินกร ไกรลาศ ก็ได้มีความริเริ่มหันมาจับเอาเพลงพื้นบ้านต่างๆ เช่น ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ และเพลงอีแซว ผสมผสานกันเข้ากับการแสดงดนตรีลูกทุ่งจนเป็นผลสำเร็จได้รับการต้อนรับจากแฟนเพลงเป็นอย่างดี นอกจากงานด้านการขับร้องเพลงแล้ว คุณชินกรก็ยังรับทำขวัญนาค ซึ่งเป็นงานที่ทำต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย

คุณชินกร ไกรลาศ นับเป็นนักร้องที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพเป็นอย่างสูง เคยได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆ มากมาย อาทิ

ชนะเลิศการประกวดดนตรีลูกทุ่งไทยในงานวชิราวุธานุสรณ์ เมื่อปี ๒๕๑๓
ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากการขับร้องเพลงยอยศพระลอเมื่อปี ๒๕๑๔
ได้รับพระราชทานรางวัลเชิดชูเกียรตินักร้องลูกทุ่งดีเด่น ในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๑ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี ๒๕๓๒
ได้รับพระราชทานรางวัลนักร้องเพลงไทยผู้ออกเสียงภาษาไทยถูกต้อง เนื่องในงานสัมมนาการใช้ภาษาไทยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ ๒ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล
ได้รับพระราชทานรางวัลเชิดชูเกียรตินักร้องลูกทุ่งดีเด่น ในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๒ จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี ๒๕๓๔
ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๓๗

คุณชินกร ไกรลาศ เป็นศิลปินที่สร้างผลงานจนกระทั่งมีชื่อเสียงด้วยความสามารถของตนเองโดยแท้จริง ในด้านงานเพื่อสังคม ท่านก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถบำเพ็ญตนช่วยเหลืองานเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังเป็นศิลปินที่มีภาพพจน์ดีงาม ไม่มีความด่างพร้อย จึงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๒

ผมยังจำเพลง “ยอยศพระลอ” ที่คุณชินกร ไกรลาศ ร้องตั้งแต่ผมยังเด็กได้ดี และยังได้เห็นผลงานอื่นๆ ของท่านอีกมากจนกระทั่งผมเติบโตมาจนทุกวันนี้ ซึ่งในตอนแรกผมมีความคิดว่าคุณชินกรน่าจะมีอายุมากพอสมควร แต่เมื่อได้พบกับท่านเมื่อวันที่นัดกันครั้งแรกนั้น ผมก็พบว่าท่านยังดูหนุ่มกว่าที่ผมนึกวาดภาพเอาไว้มาก ผมได้เรียนกับท่านว่า ภาพพจน์ของท่านในสายตาของผมระยะหลังๆ นี้ ค่อนข้างจะออกไปในทางที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ไม่ว่าจะเป็นแนวเพลงที่ท่านร้อง หรืองานทำขวัญนาค เป็นต้น ผมจึงมีความคิดว่าอยากจะถ่ายภาพท่านในสภาพแวดล้อมของศาสนา จึงคิดต่อไปว่าหากสามารถถ่ายภาพท่านในโบสถ์สวยๆ สักแห่ง ที่มีองค์พระปฏิมาเป็นฉากหลัง ก็น่าจะได้ภาพดังความหมายที่ตั้งใจไว้ เมื่อทราบความตั้งใจของผมดังนั้นแล้ว คุณชินกรก็ได้เสนอชื่อวัดต่างๆ หลายแห่งที่ท่านคุ้นเคยและเห็นว่าสวยงาม แต่ในตอนท้าย ท่านก็กล่าวว่าหากเป็นไปได้ท่านก็อยากจะให้ไปถ่ายภาพท่านที่วัดปริวาส ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนพระราม ๓ เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่ที่สวยงามแล้ว ท่านเจ้าอาวาสก็เป็นผู้ที่มีเมตตาสูง และเป็นพระที่มีแนวความคิดทันสมัย ที่คุณชินกรให้ความเคารพนับถือและคุ้นเคยเป็นพิเศษ ซึ่งคุณชินกรได้แนะนำให้ผมไปกราบขออนุญาตจากท่านโดยรับรองว่าผมจะได้รับความกรุณาเป็นอย่างดี

เมื่อเป็นความประสงค์ของคุณชินกร ผมจึงตรงไปยังวัดปริวาสในทันทีเพื่อกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาส และก็เป็นไปดังที่คุณชินกรรับรองไว้ คือท่านเจ้าอาวาสได้กรุณาอนุญาตและอำนวยความสะดวก โดยให้คนพาผมชมสถานที่ได้อย่างเต็มที่ตามต้องการ ผมได้เดินชมโดยรอบวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ศาลาหลังใหญ่ที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ อันเป็นสถานที่ที่คุณชินกรกล่าวถึง ศาลาดังกล่าวนั้นมีลักษณะคล้ายโบสถ์ขนาดใหญ่ ที่มีพระประธานประดิษฐานอยู่ ที่ฝาผนังโดยรอบมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแนวไทยประยุกต์เขียนประดับอยู่ช่วยสร้างชีวิตชีวาให้กับศาลานั้นเป็นอย่างดี เมื่อได้เล็งมุมที่ถูกใจเอาไว้แล้ว ผมก็โทรศัพท์นัดคุณชินกรในโอกาสแรกที่ท่านว่างทันที

เมื่อถึงวันนัด คุณชินกรและภรรยาก็เดินทางมาถึงวัดพร้อมกับนำเสื้อไหมไทยติดมาด้วยหลายชุดเพื่อให้ผมเลือก และเราก็เริ่มถ่ายภาพกันในทันที เนื่องจากผมได้จัดเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างและทดลองถ่ายภาพจักรกฤษณ์ในตำแหน่งที่เตรียมไว้ก่อนแล้ว การถ่ายภาพคุณชินกรจึงสำเร็จลงอย่างรวดเร็ว ในการถ่ายภาพครั้งนี้ ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือไฟถ่ายภาพที่ผมจัดเพื่อถ่ายคุณชินกรนั้น ส่องสว่างไปไม่ถึงองค์พระประธานเบื้องหลัง ครั้นหากผมจะจัดไฟเพิ่มแสงสว่างให้องค์ท่านโดยเฉพาะก็ทำได้อยู่ แต่ปัญหาคือผมต้องฉายไฟเงยขึ้นไปส่ององค์พระซึ่งอยู่สูงกว่ามาก ซึ่งผลเสียก็คือจะเกิดเงาทอดขึ้นไปที่ผนังหลังองค์พระในลักษณะที่ดูแข็งและผิดธรรมชาติ ซึ่งหากจะไม่ให้เป็นเช่นนั้นก็จะต้องฉายไฟจากเบื้องสูงลงมา ซึ่งในที่นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะขาตั้งไฟของผมไม่สามารถยกขึ้นให้สูงขนาดนั้น จึงมีเหลืออีกหนทางเดียวที่จะทำได้ คือการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำมากๆ เพื่ออาศัยแสงสว่างในศาลานั้นเองอันเกิดจากไฟที่ติดอยู่ในศาลา และแสงจากหน้าต่างโดยรอบรวมกัน แต่เนื่องจากวันนั้นท้องฟ้ามืดครึ้มเพราะมีฝนตก แสงจากหน้าต่างดังกล่าวจึงมีน้อยมาก เมื่อวัดด้วยเครื่องวัดแสงแล้ว ก็ปรากฏว่าจะต้องใช้เวลาถึง ๑ วินาทีในการเปิดชัตเตอร์ ซึ่งเป็นความเร็วที่ต่ำมากไม่เหมาะแก่การถ่ายภาพบุคคลเลยเพราะเสี่ยงต่อการที่ภาพจะไหวเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อไม่มีทางอื่นแล้ว ผมก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด โดยขอให้คุณชินกรยืนให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วถ่ายเผื่อเลือกเอาไว้ถึง ๓๐ ภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุดเพียงภาพเดียว ส่วนแสงสว่างที่ส่องลงบริเวณตัวคุณชินกรนั้น ก็เป็นแสงไฟแฟลชที่ผมจัดขึ้น ภาพนี้จึงเป็นภาพที่ใช้แสงว่าง ๒ ประเภท ผสมผสานกัน โชคยังเป็นของผม คือผมสามารถเลือกภาพที่ดีตามที่ต้องการได้ ก็เล่นถ่ายตั้ง ๓๐ รูป เอาเพียงรูปเดียว ถ้าเสียหมดก็แย่เต็มทีจริงไหมครับ!

อันคำว่า “ศิลปินแห่งชาตินั้น” ก็มีความหมายที่ชัดเจนอยู่ในตัวเองแล้วว่าคนที่ได้รับการยกย่องให้อยู่ในฐานะนี้ ย่อมไม่ใช่ศิลปินธรรมดาทั่วไป หากต้องเป็นยอดแห่งศิลปินในแต่ละสาขาอย่างแท้จริง ดังเช่นที่คุณชินกร ไกรลาศ ได้พิสูจน์ตนเองแล้วด้วยผลงานและเกียรติคุณที่ท่านสู้สะสมมาทีละเล็กละน้อยจนก้าวมาถึงจุดนี้ อย่างสง่างาม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.