นาย ชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง – ผู้กำกับภาพยนตร์) พ.ศ. ๒๕๓๖
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
เพียงเห็นภาพครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติประจำฉบับนี้แล้ว ท่านผู้อ่านแทบทุกท่านคงจะคุ้นหน้า และคุ้นเคยกับผลงานของท่านเป็นอย่างดี ด้วยท่านเป็นศิลปินที่มีผลงานดีเด่นทั้งในด้านการประพันธ์คำร้องของเพลงอมตะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมากมาย อีกทั้งยังมีผลงานด้านการกำกับการแสดงภาพยนตร์ไทยที่มีคุณภาพอีกหลายเรื่อง จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขา ศิลปะการแสดงถึง ๒ แขนง ในคนเดียวกัน
ครูชาลี มีชื่อเดิมว่า สง่า อินทรวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ที่จังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันอายุ ๗๗ ปี ท่านได้รับการศึกษาที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ และโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟตามลำดับ ความสนใจในเสียงเพลงของท่านมีมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยท่านมักจะชอบติดตามไปชมการแสดงดนตรีตามงานวัดเสมอๆ ยิ่งไปกว่านั้นไม่ว่าในเวทีใดที่มีการประกวดการร้องเพลง ครูชาลีมักจะเข้าร่วมด้วย และมักจะสามารถคว้ารางวัลที่ ๑ ได้เสมอ เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม ท่านได้มีโอกาสพบกับครูล้วน ควันธรรม ซึ่งเป็นผู้ที่มองเห็นแววและความสามารถของครูชาลี จึงได้ชักชวนให้ไปเป็นนักร้องคณะแซมเบอร์มิวสิค ร่วมรุ่นกับคุ ณสุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ จากนั้นมา ชีวิตของท่านจึงผูกพันอยู่ในวงการบันเทิงมาโดยตลอด
จากการทมี่ได้คลุกคลีอยู่ในวงการบันเทิงนี้ ทำให้ท่านได้มีโอกาสแสดงละครในยุคที่ละครร้องยังรุ่งโรจน์อยู่ด้วย ละครดังในยุคนั้นที่ท่านร่วมแสดงได้แก่เรื่อง จุฬาตรีคูณ ผู้ชนะสิบทิศ เป็นต้น ครั้นสิ้นยุคของละครแล้วครูชาลีจึงได้หันไปสู่วงการดนตรีอีกครั้ง โดยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของวงดนตรีประสานมิตรอันโด่งดังที่สุดของยุคนั้นโดยมีครูสมาน กาญจนะผลิน ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ และ ครูสง่า ทองธัช เป็นกำลังสำคัญของวง ท่านทั้ง ๓ นี้ ล้วนเป็นปรมาจารย์นักแต่งทำนองเพลงคนสำคัญของเมืองไทยด้วยกันทั้งสิ้น และได้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ครูชาลีเกิดความสนใจต้องการที่จะเป็นผู้แต่งคำร้องในเวลาต่อมา
ด้วยแรงสนับสนุนของศิลปินทั้ง ๓ ท่านอย่างแข็งขัน โดยการแต่งทำนองเพลงให้ครูชาลีใส่คำร้อง ทำให้ครูชาลีได้มีโอกาสพิสูจน์ความสามารถของท่านจนเป็นที่ประจักษ์ต่อวงการเพลง และบุคคลทั่วไปอย่างรวดเร็ว เพลงเพลงแรกที่ท่านเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง คือเพลง “รักชั่วชีวิต” ติดตามด้วยเพลงอื่นๆ อีกมากมายเกือบ ๑,๐๐๐ เพลง อันมีทั้งเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างๆ กันออกไป อาทิ เพลงรักหวานซึ้ง เพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงประจำสถาบันการศึกษา และเพลงเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น ในจำนวนนี้ หลายต่อหลายเพลง ได้กลายเป็นเพลงอมตะตลอดกาล ได้รับความนิยมนำมาร้องกันอย่างต่อเนื่องมาตราบจนทุกวันนี้ งานที่ครูชาลีภาคภูมิใจที่สุด และทุ่มเททั้งกายใจอย่างเต็มที่ชิ้นหนึ่ง คือการประพันธ์คำร้องเพลงสดุดีมหาราชาเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเพลงเพลงนี้ นับได้ว่าเป็นเพลงเทิดพระเกียรติที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักมากที่สุดเพลงหนึ่ง
ตัวอย่างส่วนหนึ่งของเพลงที่ ครูชาลี อินทรวิจิตร ประพันธ์คำร้องได้แก่ ไกลบ้าน กว๊านพะเยา ครวญ ค่าของคน คู่กรรม จำเลยรัก เจ้าพระยา ฉันรักผัวเขา ฉันรักเธอ ดวงตาสวรรค์ ตะวันยอแสง ท่าฉลอม เท่านี้ก็ตรม ทะเลไม่เคยหลับ ทุ่งรวงทอง เทวดาเดินดิน เธออยู่ไหน หนามชีวิต น้ำเซาะทราย บ้านเรา บ้านทรายทอง ป่าลั่น โพระดก ไม่อยากให้โลกนี้มีความรัก เหมือนไม่เคย มนต์รักบ้านนา แม่กลอง มนต์รักดอกคำใต้ ยามชัง รักเธอเสมอ เรือนแพ ลาก่อนสำหรับวันนี้ ละอองดาว ลูกอีสานหลานย่าโม วังบัวบาน แสนแสบ แสบแสน สักขีแม่ปิง สวรรค์มืด สายชล หยาดเพชร อาลัยรัก ฯลฯ
ครูชาลี อินทรวิจิตร ได้รับรางวัลเกียรติคุณจากการประพันธ์คำร้องเพลงต่างๆ มากมาย ในจำนวนนี้ มีทั้งรางวัลที่ได้รับจากการประกวดเพลงนำภาพยนตร์อันได้แก่
รางวัลตุ๊กตาทอง (พระสุรัสวดี) รางวัลสุพรรณหงษ์ทองคำ และภาพยนตร์แห่งชาติ จากภาพยนตร์เรื่อง
– ลูกทาส
– บ้านทรายทอง
– ลูกเจ้าพระยา
– ค่าของคน
– อาจารย์อ้วนสติเฟื่อง
– เพชรตัดหยก
– ไอ้ผาง ร.ฟ.ท.
– น้ำเซาะทราย
– ครูจันทร์แรม
รางวัลที่ได้รับจากละครโทรทัศน์ ได้แก่ รางวัลเมขลา จากละครเรื่อง
– ทหารเสือพระเจ้าตาก
– สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
รางวัลกิตติคุณ สังข์เงิน และโล่จากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕
– เพลงสดุดีมหาราชา จากภาพยนตร์เรื่องลมหนาว
รางวัลแผ่นเสียงทองคำ จากเพลง
– อาลัยรัก
– สตรีหมายเลขศูนย์
– น้ำตานกขมิ้น
นอกจากผลงานการประพันธ์เพลงดีเด่นที่มีรางวัลระดับชาติเป็นเครื่องประกันคุณภาพแล้ว ครูชาลี อินทรวิจิตร ยังมีผลงานทางด้านการกำกับภาพยนตร์อีกด้วย โดยท่านได้เคยสร้างและกำกับภาพยนตร์ของตนเองมากกว่า ๒๐ เรื่อง และเคยได้รับรางวัลจากการกำกับภาพยนตร์หลายครั้ง
ในด้านสังคม ครูชาลี อินทรวิจิตร เป็นศิลปินที่มีจิตใจเป็นกุศล มักจะให้ความช่วยเหลืองานเพื่อสาธารณประโยชน์อยู่ตลอดเวลาอย่างเต็มกำลังกาย และสติปัญญาความสามารถโดยไม่คำนึงถึงสิ่งตอบแทน จากคุณสมบัติทั้งปวงที่กล่าวมา ทำให้ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง – ผู้กำกับภาพยนตร์) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๖
มีเรื่องบังเอิญเกี่ยวกับการถ่ายภาพครูชาลี อินทรวิจิตร นี้ เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อหลายเดือนก่อนผมพยายามที่จะติดต่อครูชาลี เพื่อขอถ่ายภาพท่าน โดยหาหมายเลขโทรศัพท์จากหนังสือทำเนียบศิลปินแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ แต่เมื่อผมได้โทรศัพท์ไปตามหมายเลขที่ระบุเอาไว้ปรากฏว่าท่านได้ย้ายจากที่อยู่เดิมไปเสียแล้ว เป็นอันว่ายังไม่สามารถติดต่อท่านได้ จึงคิดเอาไว้ว่าคงจะต้องหาทางที่จะติดต่อท่านทางอื่นต่อไป หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ขณะที่ผมกำลังขับรถออกจากซอยบ้านย่านถนนงามวงศ์วาน ข้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สายตาผมก็ไปสะดุดเข้ากับชายคนซึ่งผมจำได้ดีว่าคือ ครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติผู้ซึ่งผมกำลังตามหานั่นเอง ! ผมจึงรีบตัดสินใจจอดรถริมฟุตบาทวิถีอย่างไม่ลังเล และเดินเข้าไปกล่าวสวัสดีครูชาลีและเรียนถึงวัตถุประสงค์ของผมให้ท่านทราบในทันที ครูชาลีมีทีท่างงๆ เล็กน้อย ก่อนที่จะกล่าวรับคำขอของผม พร้อมยื่นนามบัตรสีชมพูใบหนึ่ง ซึ่งเป็นนามบัตรของร้านอาหาร “บ้านชาลี” ที่ท่านแจ้งว่าเป็นร้านอาหารของท่านซึ่งตั้งอยู่ย่านบางบัวทอง และกล่าวว่าให้ติดต่อไปที่นั่นได้
ผมไม่ได้ติดต่อครูชาลีในทันทีเนื่องจากติดภารกิจในต่างจังหวัด และงานอื่นๆ อีกมากจนกระทั่งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ผมจึงได้นัดหมาย และเดินทางไปพบท่านที่ร้านอาหารดังกล่าว กับสุธาวัลย์ ลูกศิษย์ที่ผมเคยสอนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มาช่วยแทนจักรกฤษณ์ซึ่งติดธุระ เวลาที่นัดหมายกันเป็นช่วงบ่ายซึ่งเป็นเวลาที่ร้านไม่ยุ่งเหยิง การทำงานของผมจึงเป็นไปอย่างสะดวก และไม่เป็นที่เกะกะแก่แขกที่มารับประทานอาหารมากมายนัก ผมได้เลือกมุมหนึ่งในร้านที่ดูเรียบๆ ไม่ยุ่งเหยิงเป็นที่ใช้ถ่ายภาพโดยตั้งใจเน้นให้เห็นหน้าครูชาลีเป็นสำคัญ แว่นตาที่ครูชาลีสวมอยู่ เป็นสีชาเข้มซึ่งค่อนข้างจะยากแก่การถ่ายภาพ อย่างไรก็ตามก็เป็นแว่นที่ท่านใช้ประจำและเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของท่านอย่างหนึ่ง ใบหน้าของครูชาลีในภาพดูอ่อนกว่าวัย ๗๗ ปี ของท่านอยู่มากแม้จะมองผ่านแว่นสีชา ก็ยังมองเห็นแววตาเป็นประกายของท่านได้อย่างดี กว่าที่จะออกมาเป็นภาพนี้ ผมได้ใช้เวลาจัดอยู่นานจนครูชาลีหลับแล้วหลับเล่าไปหลายตื่น แต่ท่านก็อดทานไม่ปริปากบ่นแม้แต่น้อย จนกระทั่งการทำงานเสร็จลงด้วยดี
ครูชาลี อินทรวิจิตรเล่าให้ผมฟังเมื่อเสร็จงานแล้วว่า สิ่งที่ทำให้ท่านภาคภูมิใจและปลาบปลื้มใจเป็นที่สุดในชีวิตนอกเหนือจากการได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติก็คือ การที่ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเรื่องพิเศษที่ศิลปินน้อยคนจะได้รับ นับเป็นบำเหน็จรางวัลอันสูงค่าตอบแทนความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ท่านเทิดทูนไว้เหนือสิ่งอื่นใด
นอกจากงานทางด้านการประพันธ์คำร้องเพลงที่ครูชาลี อินทรวิจิตร ยังคงทำอย่างต่อเนื่องไม่เคยว่างเว้น ปัจจุบันท่านยังได้ทำกิจการร้านอาหารที่บ้านอีกด้วย จากที่ผมได้ทดลองไปชิมมาแล้วขอยืนยันว่ารสชาติอาหารดีจริงๆ ที่สำคัญคือทางร้านได้นำเพลงเก่ามาบรรเลงให้แขกได้ร้องไปด้วยอย่างน่าสนุกสนาน และทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ครูชาลีก็จะร่วมร้องเพลงอยู่ด้วยอย่างเป็นกันเอง หากท่านผู้อ่านอยากรับประทานอาหารดี ฟังดนตรีที่ไพเพราะน่าจะลองแวะไปเยี่ยมเยียนร้านบ้านชาลีกันสักครั้งนะครับ หากไม่ทราบว่าจะไปอย่างไรลองโทรศัพท์ไปถามได้ที่หมายเลข PCT ๙๒๙ – ๑๘๑๖ กด ๑ รับรองไม่ผิดหวังแน่ครับ