คำผาย นุปิง

คำผาย นุปิง

นายคำผาย นุปิง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ขับซอ) พ.ศ. ๒๕๓๘

มื่อพูดถึงคำว่า “ซอ” คนภาคกลางโดยทั่วไปมักจะมีความเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับสีให้เกิดเสียงดนตรี แม้ตัวผมเอง ในเบื้องต้นที่ยังไม่ได้ศึกษาประวัติของศิลปินแห่งชาติล้านนาหลายท่าน ก็หลงเข้าใจผิดไปเช่นนั้น ต่อเมื่อได้ศึกษาเรื่องราวของท่านเหล่านั้นแล้ว จึงได้เข้าใจว่า คำว่า “ซอ” ในภาษาพื้นเมืองทางเหนือนั้นหมายถึงการขับร้อง ซึ่งมีลีลา และเนื้อหาหลากหลายแนว ตั้งแต่เนื้อหาสาระเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา สังคม ตลอดไปจนถึงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และเรื่องบันเทิงสนุกสนานเฮฮา

การซอนั้น มีทั้งการซอเดี่ยว และซอคู่ สำหรับการซอคู่นั้น อาจเป็นการซอตอบโต้กันระหว่างชายกับหญิง หรือชายกับชายก็ได้ หาใช่การสีซอตามความหมายอย่างทางภาคกลางไม่ ส่วนเครื่องดนตรีที่ภาคกลางเรียกว่า “ซอ” นั้น ภาษาทางเหนือเขาเรียกว่า “สะล้อ” และ “ซึง” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีหลักที่ใช้บรรเลงขณะขับซอ ศิลปินแห่งชาติที่ผมจะแนะนำให้ท่านรู้จักในฉบับนี้ก็เป็นศิลปินพื้นบ้าน ผู้มีความชำนาญในการขับซออันเลื่องชื่อของล้านนา เป็นเพชรน้ำงามจากจังหวัดน่านผู้มีนามว่าพ่อครูคำผาย นุปิง

พ่อครูคำผาย นุปิง เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๗ ที่จังหวัดน่าน ปัจจุบันอายุ ๗๖ ปี ครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวเกษตรกร ท่านได้รับการศึกษาถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนใกล้บ้าน จากนั้นก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของพ่อครูไชยลังกาเครือเสน ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยได้เรียนรู้ศิลปะการซอจากท่านอยู่เป็นเวลาประมาณ ๗ ปี ระหว่างนั้น พ่อครูคำผายได้ติดตามพ่อครูไชยลังกาไปแสดงซอในงานต่างๆ โดยตลอด จากการที่เป็นผู้ที่มีไหวพริบปฏิภาณดีเลิศ ช่างสังเกต และใฝ่รู้ ท่านจึงรับถ่ายทอดศิลปะการแสดงแขนงนี้มาได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้น ท่านยังสามารถแต่งเนื้อร้องเพลงซออีกทั้งสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีประกอบวงซออันได้แก่สะล้อ และซึ้งได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ครั้นอายุได้ ๒๐ ปี พ่อครูคำผายจึงได้กราบลาพ่อครูไชยลังกาเพื่ออกมาตั้งคณะซอของตนเองจนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากชาวล้านนาตั้งแต่นั้นมา ผลงานของท่านดีเด่นเป็นที่ยอมรับจนมีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับการยกย่องเรียกขานกันว่า “พ่อครู” อันถือเป็นคำที่ให้เกียรติเป็นอย่างสูงแก่ผู้ที่มีฝีมือในระดับอาจารย์จนมีผู้เลื่อมใสมาฝากตัวเป็นศิษย์เท่านั้น

นอกจากการตั้งคณะแสดงซอเป็นอาชีพแล้ว พ่อครูคำผาย นุปิง ยังได้ทุ่มเทกายใจในการพัฒนาและปรับปรุงการซอให้ทันสมัย เพื่อดึงดูดให้วัยรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้นจะหันหลังให้กับศิลปะพื้นบ้านอันเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้หันกลับมาให้ความสนใจ ทั้งนี้ยังคงสามารถรักษาความเป็นพื้นเมืองล้านนาเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน และด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู พ่อครูคำผายได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ของท่านอย่างเต็มที่ ไม่เคยห่วงวิชาจึงทำให้มีผู้มาฝากตัวเป็นศิษย์เป็นจำนวนมาก และหลายคนในจำนวนนี้ก็มีแววที่จะเป็นศิลปินพื้นบ้านที่มีความสามารถสูง อันเป็นความหวังที่สดใสในการสืบทอดศิลปะการซอให้กับคนรุ่นต่อไปอีกในอนาคต

พ่อครูคำผาย นุปิง

พ่อครูคำผายถ่ายภาพร่วมกับพระคุณเจ้าผู้ดูแลวัด พระธาตุแช่แห้ง และอาจารย์ประดิษฐ์

คำผาย นุปิง

เมื่อไหร่เมฆจะมาเสียทีหนอ

ทุกครั้งที่มีโอกาสบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมด้วยความรู้ความสามารถ และกำลังที่ท่านมีอยู่ พ่อครูคำผายจะอุทิศตนช่วยเหลืออย่างเต็มที่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความร่วมมือกับทางราชการ ในการช่วยอนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม การจรรโลงศีลธรรมอันดีงามให้เกิดขึ้นในสังคม การต่อต้านภัยเมื่อครั้งที่ลัทธิคอมมิวนิสต์คุมคามประเทศไทยอย่างหนัก ในช่วงประมาณสามสิบปีที่ผ่านมา ตลอดจนการช่วยรณรงค์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ ด้วยการแต่งเนื้อเพลงซอเพื่อการรณรงค์ตามแต่วัตถุประสงค์ที่กล่าวมา อีกทั้งรับเชิญร่วมสัมมนา เป็นวิทยากรบรรยายในสถาบันต่างๆ ให้ความรู้ทางด้านศิลปะวัฒนธรรมพื้นเมืองล้านนาอย่างสม่ำเสมอจนได้รับเกียรติคุณนานาประการ เกียรติคุณสำคัญดีเด่นที่ท่านได้รับได้แก่

-ได้รับโล่เกียรติคุณเชิดชูเกียรติผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงของจังหวัดน่าน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ จากศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดน่าน

-ได้รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม และประกอบคุณงามความดีทางด้านวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ ของภาคเหนือ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

-ได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ สาขาศิลปศาสตร์ สายมนุษยศาสตร์ โปรแกรมวิชาดนตรี วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ สหวิทยาลัยล้านนา สภาการฝึกหัดครู จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๖

และเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ พ่อครูคำผาย นุปิง ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ เจริญรอยตามพ่อครูไชยลังกา เครือเสน คนดีศรีเมืองน่านผู้ล่วงลับ นับเป็นความน่าภาคภูมิใจของชาวน่าทั้งมวลที่ไม่เคยขาดแคลนยอดศิลปินเพลงพื้นบ้านที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถและคุณธรรมเยี่ยงท่านทั้งสอง

ผมได้เคยเล่าเอาไว้แล้วว่าเมื่อคราวที่ผมเดินทางไปถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติทางภาคเหนือเมื่อหลายเดือนก่อนนั้น ผมยังถ่ายภาพได้ไม่ครบทุกท่าน ยังคงมีศิลปินอีก ๓ ท่านที่ผมจะต้องเดินทางไปถ่ายภาพอีก คือคุณรงค์ วงศ์สวรรค์ คุณป้าจันทร์สม สายธารา ที่จังหวัดเชียงใหม่ และพ่อครูคำผาย นุปิง ที่จังหวัดน่าน ดังนั้นเมื่อสบโอกาสเหมาะ ผมจึงเดินทางขึ้นเหนืออีกครั้ง แต่คราวนี้จักรกฤษณ์ เพื่อนคู่หูที่ร่วมงานกันมาโดยตลอดติดธุระ ไม่สามารถเดินทางไปด้วยได้ ผมจึงต้องฉายเดี่ยวโดยขับรถขึ้นไปยังจังหวัดเชียงใหม่ตามลำพัง อย่างไรก็ตาม จักรกฤษณ์ก็ได้ช่วยนัดหมายกับสาโรช เพื่อนสนิทที่ขึ้นไปทำงานที่เชียงใหม่ ให้มาช่วยผมแทน ผมเดินทางไปถึงในเวลาค่ำ จึงได้พักผ่อนเพื่อเตรียมตัวถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติ ๒ ท่าน ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับการถ่ายภาพท่านทั้ง ๒ นั้น ผมจะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป วันรุ่งขึ้น เมื่อผมได้ถ่ายภาพที่เชียงใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้พักผ่อนค้างคืนที่เชียงใหม่อีก ๑ คืน แล้วจึงออกเดินทางตั้งแต่เวลาตีสี่ครึ่งขับรถมุ่งตรงไปยังจังหวัดน่าน เส้นทางการเดินทางเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ทิวทัศน์สวยงาม ผมกับสาโรชผลัดกันขับรถจนถึงจุดหมายในเวลาสาย เมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่การศึกษาของจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยประสานงานนัดหมายพ่อครูคำผายให้ผม ได้กรุณาขับรถนำผมไปยังบ้านของพ่อครูในทันที เมื่อไปถึงผมก็ได้พบกับพ่อครูคำผาย นุปิงสมปรารถนา ซึ่งขณะนั้น ท่านกำลังเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนเล็กๆ นับสิบคน ที่อาจารย์พามาเรียนนอกสถานที่ยังบ้านของท่านอาจารย์ท่านนั้นผู้ซึ่งผมทราบนามในภายหลังว่าชื่ออาจารย์ประดิษฐ์ เป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในละแวกนั้น มักจะพานักเรียนมาขอความรู้จากพ่อครูคำผายเป็นอาจินต์

หลังจากที่เรียนเสร็จแล้ว อาจารย์ได้ปล่อยให้นักเรียนทั้งหมดเดินกลับโรงเรียนเพื่อเล่าเรียนตามปกติต่อไป ส่วนอาจารย์ประดิษฐ์ก็อุตส่าห์อยู่สนทนากับเราต่อ ผมได้เรียนปรึกษากับทั้งพ่อครูคำผาย และอาจารย์ประดิษฐ์ว่าอยากจะถ่ายภาพพ่อครูคำผายกับสถานที่สำคัญของจังหวัดน่าน อันได้แก่วัดพระธาตุแช่แห้ง หรือวัดภูมินทร์ แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งวัดทั้งสองแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองนานมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล

เมื่อทราบความประสงค์ของผมแล้ว ทั้ง ๒ ท่านก็ยินดีที่จะสละเวลาให้ผมพาท่านไปถ่ายภาพ โดยตกลงกันว่าจะไปที่วัดพระธาตุแช่แห้งก่อน เราใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วครู่ก็ไปถึงวัดที่หมาย พ่อครูคำผายและอาจารย์ประดิษฐ์แยกตัวไปนมัสการพระคุณเจ้าผู้ดูแลวัด เพื่อขออนุญาตใช้สถานที่ ส่วนผมใช้เวลาสำรวจบริเวณรอบๆ วัดเพื่อหามุมถ่ายภาพ โดยตั้งใจจะถ่ายภาพพ่อครูคำผายโดยให้มองเห็นองค์พระธาตุตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลัง เป็นการจัดให้ยอดคนดีเมืองน่าน ยืนอยู่ภายใต้ความสง่างามของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง แต่ผมก็ได้พบกับอุปสรรคสำคัญ ๒ ประกาที่ทำให้เกิดความยากลำบากในการถ่ายภาพนี้ ประการแรก รอบๆ องค์พระธาตุนั้นไม่มีบริเวณมากพอที่ผมจะถอยกล้องให้เห็นองค์พระธาตุทั้งองค์ได้ทำให้การเลือกมุมกล้องอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ไม่เป็นผล ผมจึงจำต้องเลือกมุมอื่นที่เห็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์พระธาตุเป็นสีทองเหลืองอร่ามแทน ซึ่งหากไม่บอก ก็คงไม่มีใครทราบว่าเป็นสถานที่ใด ปัญหาข้อต่อมาก็คือเวลาที่ไปถ่ายภาพนั้น เป็นเวลาใกล้เที่ยง ดวงอาทิตย์อยู่กลางฟ้าเกือบจะตรงศีรษะ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับถ่ายภาพคนให้สวยเพราะลักษณะของเงาที่ทอดลงมาจะแข็งกระด้าง และให้แสงเงาที่ไม่สวยงาม แต่เนื่องจากเวลาของผมมีจำกัด จำเป็นจะต้องถ่ายในขณะนั้นไม่สามารถเลื่อนไปถ่ายเวลาอื่นได้จึงต้องหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ได้มีอยู่ ๒-๓ วิธี เช่นการจัดไฟถ่ายภาพช่วยลดเงา การใช้แผ่นสะท้อนแสงขนาดใหญ่ช่วยเพิ่มแสง ส่วนอีกวิธีก็คือการรอให้เมฆลอยมาบังแสงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้เงาแข็งหายไป และให้แสงที่นุ่มนวลคล้ายการใช้ร่มสะท้อนแสงในการถ่ายภาพนั่นเอง

พ่อครูคำผายถ่ายภาพนักเรียน

พ่อครูคำผายถ่ายภาพนักเรียนที่มาทัศนศึกษาที่บ้าน

ผมเลือกใช้วิธีสุดท้ายเนื่องจากการใช้ไฟถ่ายภาพในที่แจ้งเช่นนั้นค่อยข้างจะเป็นการลำบาก จะต้องใช้สายไฟขนาดยาวมาก โยงมาจากภายในอาคารที่มีปลั๊ก ซึ่งผมไม่ได้เตรียมมา ส่วนแผ่นสะท้อนแสงนั้น ผมก็ไม่ได้ตระเตรียมมาเช่นเดียวกัน จึงเหลือเพียงวิธีสุดท้าย คือการรอให้เมฆน้อยลอยมาบังเท่านั้น แต่บังเอิญวันนั้นเป็นวันที่อากาศค่อนข้างแจ่มใส ท้องฟ้ามีเมฆน้อย และค่อนข้างร้อน เราจึงต้องใช้เวลานานในการรอคอยเมฆ โดยตั้งกล้องทิ้งเอาไว้ กลางแดด แล้วนั่งรอเมฆกันอยู่ในร่ม พอเมฆลอยมาบังแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรง จนเกิดร่มเงาที่ต้องการ ก็รีบออกไปถ่ายภาพกันทีหนึ่ง ทำกันอยู่เช่นนี้รอบแล้วรอบเล่า เพราะเมฆที่ลอยมามักเป็นก้อนเล็กๆ ทำให้มีเวลาในการถ่ายน้อยมาก กว่าจะสำเร็จก็เสียเหงื่อกันไปมากมายทั้งศิลปินและช่างภาพ ต้องคอยแหงนหน้าดูท้องฟ้าตลอดเวลาว่าเมื่อไหร่เมฆจะมาเสียที เมื่อเสร็จจากที่วัดพระธาตุแช่แห้งแล้ว เราได้เดินทางกลับเข้าตัวเมืองมุ่งหน้าไปที่วัดภูมินทร์เพื่อหาที่ถ่ายภาพเพิ่มเติมสำหรับเผื่อเลือก โดยเราได้เข้าไปถ่ายภาพกันในพระอุโบสถวัดภูมินทร์ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่และมีชื่อเสียงว่าเป็นที่ๆ มีศิลปกรรมงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของทางภาคเหนือ

ผมได้พยายามถ่ายภาพพ่อครูคำผายภายในพระอุโบสถด้วยแสงสว่างธรรมชาติที่เข้ามาจากประตูและหน้าต่าง ในขณะที่กำลังถ่ายภาพนั้น มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มาทำงานวิจัยอยู่ที่นั่นทักทายผมว่าเป็นแฟนคอลัมน์และติดตามอ่านอยู่เป็นประจำ ผมจึงได้ขอถ่ายภาพเขาไว้คู่กับพ่อครูคำผายเพื่อเป็นที่ระลึกด้วย ภาพพ่อครูคำผายที่ผมถ่ายที่วัดภูมินทร์นี้มีลักษณะมุมมองที่น่าสนใจกว่าภาพที่ถ่ายที่วัดพระธาตุแช่แห้ง แต่เมื่อดูอย่างละเอียดแล้ว แสงเงาที่ส่องเข้าจากด้านเดียว ในขณะที่อีกด้านหนึ่งมืดมาก ทำให้เกิดการเน้นริ้วรอยบนใบหน้าทำให้พ่อครูดูแก่เกินกว่าที่เป็นจริงผมจึงตัดสินใจเลือกภาพที่วัดพระธาตุแช่แห้งมาใช้ ภาพดังกล่าวแม้จะมีลักษณะที่ดูธรรมดาที่สุดไม่มีจุดเด่นอะไรเป็นพิเศษ แต่สีหน้าและท่าทางของพ่อครูคำผาย ดูดีกว่ารูปอื่นๆ ทั้งหมดจึงลงเอยที่รูปนี้ด้วยเหตุผลที่เล่ามา

พ่อครูคำผายนุปิงนับเป็นตัวอย่างของบุคคลผู้บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์แก่สังคมและมีความสามารถอย่างหาตัวจับได้ยาก สมกับการเป็นศิลปินแห่งชาติที่ชาวน่าภาคภูมิใจอย่างแท้จริง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.