ความรู้เบื้องต้นเรื่อง แรงงานสัมพันธ์
*คำว่า “แรงงานสัมพันธ์” นั้นหมายถึง* ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายนี้ได้มีผลกระทบต่อกระบวนการบริหาร กระบวนธุรกิจของนายจ้าง และมีผลต่อการทำงานและความเป็นอยู่ของลูกจ้างรวมทั้งมีผลต่อสภาพทางเศรษฐกิจสังคม และความมั่นคงของประเทศชาติด้วย
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างแล้ว แรงงานสัมพันธ์ในความหมายอย่างกว้างยังหมายความรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของฝ่ายนายจ้าง(สมาคมนายจ้าง สหพันธ์นายจ้างสภาองค์การลูกจ้าง) ที่เข้ามามีบทบาทตามกฎหมายและยังรวมไปถึงบทบาทของรัฐบาลในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอันก่อให้เกิดความสงบสุขทางอุตสาหกรรมของประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะ “ทวิภาคี” (สองฝ่าย) ส่วนความสัมพันธ์ที่มีรัฐบาลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยนั้นจะมีลักษณะเป็น “ไตรภาคี” (สามฝ่าย) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคณะกรรมการร่วมที่เป็นองค์การถาวรและมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
แรงงานสัมพันธ์ (Labour Relations) ในที่นี้มีความหมายอย่างเดียวกับอุตสาหกรรมสัมพันธ์
(Industrial Relations) หรือความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับฝ่ายจัดการ (Labour
management Relations)
กล่าวโดยสรุปวิชาแรงงานสัมพันธ์ จึงเป็นวิชาที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และบทบาทขององค์กรทั้งสอฝ่ายรวมทั้งการเข้าเกี่ยวข้องกับรัฐบาลและกลไกไตรภาคีเพื่อแสวงหาวิธีการที่จะทำให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถทำงานร่วมกันด้วยดีและมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดความสงบสุขในอุตสาหกรรม อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นส่วนรวม
โดย : อาจารย์วิชัย โถสุวรรณจินดา