ข้อเท้าเคล็ด หรือ ข้อเท้าพลิก นี่ก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาการข้อเท้าพลิกที่ไม่รุนแรงนัก จะเกิดขึ้นเมื่อเท้าของคุณไม่อยู่ในท่าที่ปกติ คือ อาจจะต้องขยับบิดเบี้ยวไปมา เวลาออกกำลังกาย และทำให้เส้นเอ็นหลังข้อเท้ายืดมากเกินไป หากเอ็นถึงขนาดฉีกขาดละก็ อาการข้อเท้าพลิก จะยิ่งรุนแรงมาก ถึงขนาดทำให้ขยับเขยื้อนไม่ได้เลยทีเดีย แต่หากหลังจากที่ข้อเท้าพลิกแล้ว เท้าของคุณยังสามารถรับน้ำหนักได้ ก็แสดงว่ากระดูกข้อเท้าไม่ได้หัก หากคุณมีปัญหาในการยืน อาจจะต้องไปพบแพทย์ เพื่อเอ็กซเรย์ ดูว่ากระดูกข้อเท้ามีอะไร ผิดปรกติหรือไม่ สำหรับอาการพลิกที่ไม่รุนแรงนัก วิธีการปฐมพยาบาลขั้นต้นก็คือ
-
- พยายามอย่าใช้งานเท้าให้มากนัก
- พักเท้าไว้เฉย ๆ จนกว่าอาการบวมจะทุเลาลง
- ประคบข้อเท้าที่ปวดด้วยถุงน้ำแข็งเป็นระยะ ๆ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง จนกว่าความเจ็บปวด จะทุเลาลง หรือติดพลาสเตอร์ยา ที่ลดเคล็ดขัดยอก เพื่อช่วยลดอาการปวดบวม และอักเสบ
- ยกเท้าขึ้นสูงเพื่อให้ร่างกายลดการผลิตน้ำในข้อเท้า ที่จะทำให้อาการบวมหนักขึ้น
- เวลานอนก็หาหมอนรองเท้าให้สูงขึ้น
เมื่ออาการปวดหายไปแล้ว คุณอาจจะต้อง ออกกำลังกายบริเวณข้อเท้า เพื่อให้ข้อเท้าเคลื่อนไหวได้ตามปกติ การออกกำลังกายแบบง่าย ๆ ก็คือ เกร็งฝ่าเท้า แล้วหมุนเท้าไปรอบ ๆ ข้อเท้าเป็นรูปวงกลม นับให้ครบ 10 รอบ จากนั้นหมุนทวนกลับไปอีกด้านอีก 10 ครั้ง ควรทำซ้ำหลายๆ ครั้ง
ปกติแล้ว อาการข้อเท้าเคล็ดมักจะบรรเทาลงได้เองค่อนข้างเร็ว เว้นแต่จะมีการเกิดของเหลวคั่งค้าง ซึ่งมีทางแก้อยู่ 2 วิธี อย่างแรกคือ ฝังเข็ม ซึ่งน่าจะช่วยลดอาการบวม ปวด ให้บรรเทาลงได้ อีกวิธีคือ ใช้ยาโบรเมลีน ซึ่งเป็นเอนไซม์จากสับปะรด ที่แพทย์ของนักกีฬานิยมใช้กัน สามารถลดอาการปวดบวมได้เป็นอย่างดี และหาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพทั่วไป ซึ่งแนะนำให้ใช้ในรูปแคปซูลขนาด 200-400 มิลลิกรัม
ควรกินยาโบรเมลีนวันละ 3 เวลา เมื่อท้องว่าง ประมาณ 90 นาที ก่อนอาหาร หรือ 3 ชั่วโมงหลังอาหาร แต่บางคนอาจแพ้ยานี้ได้ ดังนั้น.. ถ้าเกิดอาการคัน หรือแพ้ ควรหยุดใช้ยาและปรึกษาแพทย์ทันที
หรือถ้าจะพึ่งวิธีสามัญขึ้น.. เพียงใช้ถุงน้ำแข็ง หรือถุงถั่วแช่แข็งประคบบริเวณที่บวมบ่อย ๆ ติดต่อกันตลอด 24 ชั่วโมง หรือสลับประคบกับถุงร้อนก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดบวม เป็นการรักษา อาการข้อเท้าเคล็ด ได้เช่นกัน