ทันตแพทย์แนะวิธีแก้ขากรรไกรค้าง
คุมสติอย่าตกใจ-ใช้นวดเบาๆห้ามตบ
ท.พ.หญิงภาณุเพ็ญ สิทธิสมวงศ์ ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมบดเคี้ยว ศูนย์ทันตกรรมโรงพยาบาลบีเอ็นเอช กล่าวว่า เมื่ออ้าปากค้างมีวิธีรักษาอาการฉุกเฉินเบื้องต้น คือ ต้องควบคุมสติ อย่าตกใจ เพราะความตกใจ ความกังวล และการพยายามที่จะหุบปากหรือกัดฟันจะยิ่งทำให้การขัดของขากรรไกรรุนแรงขึ้น ห้ามตบหรือทุบขากรรไกรเด็ดขาด เพราะการกระแทกทำให้เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อฉีกขาดได้ ต้องค่อยๆ ใช้มือถู นวดบริเวณข้างแก้มทั้ง 2 ข้าง บางรายแค่ถูนวดเบาๆ ก็หุบปากได้ แต่ถ้ายังหุบไม่ได้ต้องให้ทันตแพทย์ช่วยขยับขากรรไกรให้
“ปกติคนเราสามารถอ้าปากได้กว้างประมาณ 4.7-5.2 เซนติเมตร หรือต่างจากนี้เล็กน้อย การอ้า หรือหุบปากนั้นใช้การเคลื่อนข้อต่อขากรรไกรเคลื่อนภายในแอ่งกระดูก โดยมีกล้ามเนื้อ เอ็นยึด และรูปร่างของแอ่งเป็นสิ่งจำกัดการเคลื่อนไหวนี้ แต่ถ้ากล้ามเนื้อเกร็งตึง เอ็นหย่อนยาน หรือรูปร่างของแอ่งกระดูกไม่เอื้อแก่การเคลื่อนของข้อต่อขากรรไกร ก็อาจจะทำให้ข้อต่อขากรรไกรขัดและค้างอยู่นอกแอ่ง ทำให้เราอ้าปากค้างได้ทัน” ท.พ.หญิงภาณุเพ็ญกล่าว
ท.พ.หญิงภาณุเพ็ญกล่าวด้วยว่า กลุ่มที่เสี่ยงต่อการอ้าปากค้างได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาเอ็นหย่อนยาน หรือมีข้อต่อขากรรไกรหลวม มีอาการเบื้องต้น คือ ขณะอ้าปากกว้างจะได้ยินเสียงดังมากบริเวณหน้าหู หรือให้สังเกตว่ามีกระดูกปูด นูน ชัดเจนบริเวณหน้าหูขณะอ้าปากกว้าง อีกทั้งผู้ที่สูญเสียฟันกรามหลายซี่จนไม่สามารถเคี้ยวอาหารด้วยฟันหลังได้ เนื่องจากต้องใช้ฟันหน้าบดเคี้ยวอาหารแทน กล้ามเนื้อต้องดึงขากรรไกรและข้อต่อขากรรไกรมาข้างหน้า เป็นการฝืนกล้ามเนื้อให้ดึงข้อต่อมาหน้าแอ่งกระดูก จะมีผลให้เกิดการอ้าปากค้างได้
โอกาสการอ้าปากค้างในชายและหญิงมีเท่าๆ กัน แต่จากประสบการณ์ของตัวเองพบว่า ผู้หญิงมีโอกาสเกิดเรื่องนี้ได้มากกว่า เนื่องจากความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นที่แตกต่างกันระหว่างเพศ หลายคนคิดว่าผู้สูงอายุมักเกิดอาการนี้มากกว่าเด็ก ความจริงแล้วสามารถเกิดได้ทุกวัย
Image by Sanna Jågas from Pixabay