การประคบด้วยความร้อน – ความเย็น เมื่อได้รับการบาดเจ็บ จะพิจารณาจากอะไร มาดูกันค่ะ
ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บเมื่ออวัยวะของร่างกายได้รับการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ถูกกระทบกระแทก หรือข้อพลิก มักมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อเส้นเอ็นใยกล้ามเนื้อ และเส้นเลือดฝอยในบริเวณนั้นไม่มากก็น้อย ทำให้มีการอักเสบ บวม ปวด และเลือดออกอยู่ภายใน อาการเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุดเมื่อประมาณ 24-48 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุ ขึ้นอยู่กับว่าได้รับความรุนแรงน้อยหรือมากในระยะแรกนี้จึงควรประคบด้วยน้ำเย็น (ประมาณ 10 –15 องศาเซลเซียส) เพื่อบรรเทาอาการปวด บวม และทำให้เส้นเลือดหดตัวเพื่อให้เลือดหยุดอาจใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติคแล้วเอาผ้าห่ออีกชั้นหนึ่งประคบ เพื่อไม่ให้น้ำแข็งที่ละลายไหลเลอะเทอะ
หลัง 24-48 ชั่วโมงไปแล้ว
ใช้น้ำร้อน(ประมาณ 35-40 องศาเซลเซียส) ประคบ เพื่อบรรเทาอาการปวด บวม และทำให้เส้นเลือดขยายตัวเพื่อนำออกซิเจนและสารอาหารต่างๆ มาซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บให้หายเร็วขึ้น ช่วยดูดซึม เลือดเก่าและลดอาการบวมอาจใช้น้ำร้อนใส่ขวดหรือกระเป๋าน้ำร้อนประคบ หากร้อนมากต้องเอาผ้าห่อชั้นหนึ่งหรือหลายชั้นก่อน เมื่ออุณหภูมิลดลง แล้วจึงค่อยคลายผ้าออกเพื่อให้ได้ความร้อนที่เหมาะสมอยู่เสมอการรักษาจึงจะได้ผลสูงสุด
ข้อควรทราบ
- การประคบด้วยความร้อนหรือความเย็นควรทำวันละ 2-3 ครั้งๆ ละ 20-30 นาที
- ถ้าไม่ทราบอุณหภูมิ ให้ใช้ความร้อนหรือความเย็นที่คนไข้รู้สึกทนได้โดยไม่เจ็บปวด
- ถ้าต้องประคบเป็นบริเวณกว้าง เช่น มือ เท้า แขน หรือขา อาจใช้แช่อวัยวะนั้นลงในอ่างเลยก็ได้ แต่ ต้องหมั่นเติมน้ำแข็งหรือน้ำร้อนให้อุณหภูมิเหมาะสมอยู่เสมอ
- ต้องให้ความร้อนหรือเย็นตรงกับจุดที่เป็นสาเหตุของความเจ็บปวด ไม่ใช้ความร้อนหรือเย็นกับจุดที่รู้สึกปวดเท่านั้น อาจทำได้โดยใช้นิ้วกดไปทั่วๆ บริเวณที่รู้สึกปวด จุดที่กดแล้วมีอาการเจ็บปวดมากคือ จุดที่เป็นสาเหตุ
- ผู้ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่ปวดเมื่อยจากการใช้กล้ามเนื้อก็อาจใช้ความร้อนหรือความเย็นประคบก็ได้ จะบรรเทาอาการปวดและคลายอาการเกร็งของกล้ามเนื้อได้
- การได้รับหรือสูญเสียความร้อนมากเกินไปจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบต่างๆ ของร่างกายหลายอย่างเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในให้คงที่ (37 องศาเซลเซียส) จึง ห้ามใช้ การรักษาด้วยความร้อนหรือความเย็น ในผู้ที่มีความผิดปกติของหลอดเลือด เช่นมือเท้าเย็นเขียวและปวดเวลากระทบความเย็น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต (สูงหรือต่ำ) โรคไตอักเสบ โรคมะเร็ง หรือผู้ที่มีเส้นประสาทรับสัมผัสผิดปกติ (อาการชา) จากเหตุใดๆ