หากคุณลองใช้เวลาสักนิด มองไปรอบ ๆ ห้องครัวของคุณ คุณอาจจะพบบางสิ่งบางอย่างที่จะทำให้คุณสะดุ้งเฮือกใหญ่ โถ..ก็ใต้อ่างล้างจานของคุณไม่ต่างไปจากแหล่งเก็บยาพิษดี ๆ นี่เอง มาลองดูกันว่ามียาพิษอะไรกันบ้าง
“Poison/danger” อักษรแดงโร่เหล่านี้ มักจะมาเคียงคู่กับภาพหัวกะโหลกไขว้ ซึ่งจะบอกคุณถึงความอันตรายมากถึงมากที่สุด บางชนิดนั้น เพียงแค่หนึ่งหยดก็สามารถเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เลยทีเดียว
“Warning” ถ้าคุณเจอคำคำนี้อยู่ข้าง ๆ ขวดละก็ จะหมายถึงพิษที่เจือจางลงมาอีกหน่อย แต่ก็ยังเป็นอันตรายต่อชีวิตได้อยู่ดี
“Caution” ยังคงต้องระวังอยู่เช่นเดิม เมื่อเจอคำนี้ แม้ว่าจะอันตรายเพียงระดับปานกลาง แต่ว่าในบางกรณีนั้น หากคุณได้รับสัก 2 ช้อนชา มันก็สามารถฆ่าคุณได้อยู่ดี
“Corrosive” คำเตือนคำนี้ จะหมายความว่า สินค้าที่คุณมีอยู่ในครอบครอง สามารถทำอันตรายต่อผิวหนัง เรื่อยไปจนถึงเยื่อบุจมูก
“Strong Sensitizer” เป็นคำเตือนสุดท้ายที่คุณพึงระวัง ก็เพราะสารเคมีประเภทนี้ จะก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ด้วยนั่นเอง
หากคุณเริ่มรู้สึกไม่อยากจะแตะต้องสารเคมีที่มีพิษรุนแรงไปกว่าฉลากที่ระบุว่า “Caution” ละก็ ทิ้งมันไปซะ แล้วหันมาผสมน้ำยาเอนกประสงค์ใช้เองกันดีกว่า เพื่อลดดีกรีความรุนแรงของพิษลงไป อย่างน้อยก็เพื่อความสบายใจเมื่อคุณใช้ โดยเฉพาะบ้านหลังที่ยังคงมีเสียงหัวเราะอันสดใสของเด็ก ๆ อยู่
ส่วนผสมสำคัญ
เมื่อคุณตกลงใจแล้วว่าจะผสมน้ำยาทำความสะอาดใช้เองแล้วละก็ ส่วนผสมต่าง ๆ ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่คุณคงต้องเลือกหาสิ่งที่ขาด หยิบติดไม้ติดมือกลับมาบ้านตอนที่คุณช้อปหลังเลิกงาน
1. ผงฟู (Baking Soda)
2. โซดาซักผ้า (Washing Soda)
3. น้ำส้มสายชู (Vinegar)
4. สบู่ หรือ ผงซักฟอก (Soap or Detergent)
(สูตรพิเศษ) สารสกัดจากต้นชา (Tea Tree Oil)
ส่วนผสม 4 ชนิดหลัก ๆ เหล่านี้ หาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายของชำทั่ว ๆ ไป แต่หากต้องการสูตรพิเศษ ที่สามารถป้องกันเชื้อราและแบคทีเรียได้ คงต้องหาซื้อ Tea tree oil กันตามร้านขายยาชั้นนำ หรือห้างสรรพสินค้าชั้นนำ