นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พ.ศ. ๒๕๓๖
อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติท่านที่ผมได้ไปถ่ายภาพมาให้ชมกันในฉบับนี้ เป็นผู้ที่ทุกท่านคงจะคุ้นเคยกับชื่อเสียงและผลงานของท่านเป็นอย่างดี ท่านเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีร่วมสมัย ผู้สร้างสรรค์ผลงานทางวรรณศิลป์ไทยที่มีแนวความคิดที่ลึกซึ้ง สร้างสรรค์สังคม มีความประณีตในการใช้ฉันทลักษณ์หลากหลายรูปแบบ และมีความสามารถพิเศษในการเรียงร้องถ้อยความเป็นบทกวีได้อย่างไพเราะเป็นที่ยิ่ง มีผลงานการประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองดีเด่นมากมาย ชีวิตและผลงานของท่านก่อนที่จะประสบความสำเร็จในวันนี้ มีความเป็นมาที่น่าสนใจทีเดียว
อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันอายุ ๖๐ ปี สมาชิกในครอบครัวของท่านล้วนมีความรักและสนใจในวรรณคดีและดนตรีไทย โดยบิดาของท่านมีความสามารถทางด้านดนตรีไทย ตลอดจนการแต่งโคลงกลอนเป็นพิเศษ ส่วนมารดาก็เป็นผู้ที่ชอบอ่านวรรณคดีไทยจึงส่งผลให้อาจารย์เนาวรัตน์มีความผูกพันธ์กับวรรณคดี และดนตรีไทยมาตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเครื่องดนตรีไทยที่ท่านเล่นได้ดีมาตั้งแต่เด็กก็คือขลุ่ย ซึ่งท่านมักจะนำติดตัว และเป่าเล่นในยามว่างอยู่เสมอมิได้ขาด จนถึงปัจจุบันนี้ ในด้านโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนนั้น อาจารย์เนาวรัตน์มีความสนใจและเริ่มแต่งมาตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ในระดับมัธยม โดยได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องขุนช้างขุนแผนซึ่งท่านประทับใจในจังหวะ ลีลา และสำนวนกลอนอันไพเราะสละสลวย ครั้นเมื่อได้เข้าศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์เนาวรัตน์ก็ได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งชมรมวรรณศิลป์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งท่านก็ได้เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งของชมรมดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแข่งขันกลอนสดระหว่างมหาวิทยาลัย จนได้รับรางวัลชนะเลิศหลายครั้ง ท่านจบการศึกษาและได้รับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิตเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๘
ภายหลังจากที่จบการศึกษาแล้ว อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ได้เข้ารับราชการที่กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ท่านทำงานอยู่เพียงระยะสั้นๆ ก็ได้ลาออกจากราชการ ครั้นถึงปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ ท่านได้อุปสมบท และออกธุดงค์ไปยังสวนโมกข์ฯเพื่อศึกษาธรรมะกับท่านพุทธทาสภิกขุ ภายหลังจากที่ลาสิกขาบทแล้ว ท่านก็ได้เข้าทำงานประจำกองบรรณาธิการวิทยาสาร จากนั้นในช่วงประมาณปี ๒๕๑๓ ท่านได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง พระอภัยมณี ของไชโยภาพยนตร์ได้รับบทเป็นพระอภัยมณี ในปีต่อมา ท่านได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ประจำแผนกภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปัตตานี โดยสอนวิชาการประพันธ์อย่างสร้างสรรค์ จนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ จึงได้เข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพจนกระทั่งปัจจุบันนี้ โดยท่านมีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบงานทางด้านศิลปะวัฒนธรรม ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ของธนาคารกรุงเทพเชิงสะพานผ่านฟ้า นอกเหนือจากงานประจำแล้ว อาจารย์เนาวรัตน์ยังได้อุทิศตนช่วยเหลืองานเพื่อสังคมส่วนรวมต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน และยังเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรบรรยายในสถานศึกษาต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับงานทางด้านการประพันธ์นั้น อาจารย์เนาวรัตน์มีผลงานการประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองมากมาย ในส่วนของงานร้อยกรองประเภทกลอนในระยะแรกที่อาจารย์เนาวรัตน์แต่งนั้น มักจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักโรแมนติกเป็นหลัก ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๑๖ เป็นต้นมา ท่านก็ได้พัฒนาบทกวีของท่านไปในแนวทางที่สะท้อนสภาพปัญหาทางสังคม โดยมุ่งเน้นการสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น นอกจากบทกวีในแนวทางสร้างสรรค์สังคมแล้ว ท่านยังได้นำหลักธรรมและปรัชญาในทางพุทธศาสนาที่ท่านใฝ่ใจศึกษาอย่างจริงจัง มาสร้างสรรค์บทกวีที่ทรงคุณค่า ทั้งทางด้านเนื้อหาอันละเอียดลึกซึ้งเข้าถึงแก่นแท้ของคำสอนแห่งองค์พระศาสดา และทางด้านความประณีตงดงามทางวรรณศิลป์ ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังเป็นผู้ที่มีความรู้และให้ความสำคัญในด้านการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่างานกวีนิพนธ์ของท่านหลายเรื่อง มีเนื้อหาหลักในการอนุรักษ์ และส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทยที่กำลังถูกละเลยทอดทิ้ง สวนทางกับกระแสความเจริญทางวัตถุซึ่งกำลังฟูเฟื่องอย่างไร้ขอบเขต
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าผลงานการประพันธ์ของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นั้นมีมากมาย ดังนั้นผมจึงขอหยิบยกตัวอย่างงานของท่านเพียงบางส่วนดังนี้ งานรวมเล่มร้อยกรองได้แก่ คำหยาด ชักม้าชมเมือง เพลงขลุ่ยผิว น้ำใสไม้สวย เขียนแผ่นดิน ฯลฯ ผลงานประเภทความเรียงได้แก่ ที่นี่ขัดข้องหนอ บังอบายเบิกฟ้า เรียงร้อยถ้อยคำ บ้านเก่า ฯลฯ มีผลงานของท่านหลายเรื่องที่ได้รับรางวัลอาทิ อาทิตย์ถึงจันทร์ ได้รับรางวัลชมเชยพิเศษวรรณกรรมของธนาคารกรุงเทพ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ ชักม้าชมเมือง ได้รับรางวัลดีเด่นจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ เพียงความเคลื่อนไหว ได้รับรางวัลซีไรต์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ เพลงขลุ่ยผิว ได้รับรางวัลดีเด่นจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ และ ก.ข.ขับขาน ซึ่งแต่งรวมกับวีระศักดิ์ ขุขันธินได้รับรางวัลดีเด่นจางานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นกระทรวงศึกษาธิการยงได้มองเห็นถึงคุณค่างานวรรณกรรมของอาจารย์เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ โดยได้คัดเลือกผลงานของท่านหลายเรื่องให้ใช้ประกอบการเรียนของนักเรียนอีกด้วย อาทิ ชักม้าชมเมือง คำหยาด ลุงเต่าลิงต้อย และความคิดในดอกบัว เป็นต้น
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้พิจารณายกย่องอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวไว้ในคำประกาศเกียรติคุณตอนหนึ่งว่า
เป็นกวีที่สร้างสรรค์ผลงานหลากหลายรูปแบบ ผลงานสร้างสรรค์สะท้อนความดื่มด่ำในสมบัติวรรณศิลป์ไทยด้วยการใช้ฉันทลักษณ์หลากรูปแบบ ให้ความสำคัญกับคามเสนาะพริ้งพรายของลำนำ กวีและการถือวรรณคดีโบราณเป็นครูอย่างเคารพ เป็นกวีที่ศึกษาวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง ดื่มด่ำกับดนตรีไทยและเข้าถึงพุทธธรรมอย่างแตกฉาน ทำให้การสร้างสรรค์กวีนิพนธ์แฝงปรัชญาแห่งพุทธธรรมไว้อย่างประณีตงดงาม เป็นกวีผู้สร้างสรรค์สืบสานกวีนิพนธ์จากแบบนิยม และสมบัติวรรณศิลป์ไทยได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งยังได้พัฒนาสมบัติวรรณศิลป์ไทยเพื่อใช้สื่อสารกับคนไทยร่วมสมัยได้อย่างประทับใจมีประสิทธิภาพยิ่ง บ่งบอกถึงความเป็นปราชญ์ทางภาษาและการสร้างสุนทรียารมณ์อันงดงาม
ผมได้ไปพบกับอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ เชิงสะพานผ่านฟ้าอันเป็นที่ทำงานของท่านเพื่อชี้แจงรายละเอียดของงาน และเพื่อดูสถานที่ ที่จะถ่ายภาพ แต่ผมพบว่าสถานที่นั้น ไม่เหมาะกับการถ่ายภาพของผม อาจารย์เนาวรัตน์จึงได้นัดให้ผมไปถ่ายภาพท่านที่บ้านซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ปีก่อน จักรกฤษณ์ และผมจึงได้เดินทางไปโดยมุ่งหวังว่าจะได้ถ่ายภาพอาจารย์เนาวรัตน์กับบรรยากาศของบ้าน ซึ่งผมจินตนาการเอาเองว่าเป็นบ้านไม้ที่ตั้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นขุนเขาและลำธาร แต่เมื่อไปถึง ผมก็พบว่าจินตนาการของผมคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงมาก เพราะบ้านของอาจารย์เนาวรัตน์นั้น เป็นบ้านสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรเหมือนๆ กับบ้านทั่วไปในกรุงเทพนี่เอง เราจึงต้องเปลี่ยนแผนใหม่โดยการจัดแสงและถ่ายภาพในตัวบ้าน และจัดฉากกระดาษที่เตรียมไปด้วยเป็นฉากหลัง เนื่องจากอาจารย์เนาวรัตน์เป็นผู้ที่มีใบหน้าคมคาย มีเอกลักษณ์ (ก็เคยเป็นพระเอกหนังมาแล้วนี่ครับ) ผมจึงเน้นถ่ายภาพให้เห็นใบหน้าของท่านอย่างชัดเจน โดยผมต้องการให้ภาพถ่ายสื่อสารให้คนดูเห็นว่าท่านเป็น นักคิด ควบคู่ไปกับความเป็น นักเขียน ของท่าน จึงขอให้ท่านนั่งมองทอดสายตาไปข้างหน้าและทำท่าครุ่นคิด โดยผมถ่ายภาพท่านจากด้านข้าง ภาพที่ได้เป็นที่พอใจของผมมาก แต่ผมไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าในขณะที่ท่านทำท่านั่งคิดให้ผมถ่ายภาพอยู่นั้น ท่านกำลังคิดอะไรอยู่ แต่อาจจะมีลักษณะใดขณะหนึ่งก็ได้ที่ท่านคิดว่า ถ่ายอะไรนานนัก เมื่อไหร่จะเสร็จสักที เพราะผมเป็นคนที่ทำงานค่อนข้างจะช้า และจู้จี้กับท่านมากเหลือเกิน ซึ่งตามปกติคนที่เป็นช่างภาพรวมทั้งผมด้วย จะไม่ค่อยทราบว่าผู้ที่ถูกถ่ายจะมีความรู้สึกเช่นนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งผมมีความจำเป็นต้องใช้ภาพถ่ายของตัวเอง จึงได้วานให้ผู้ช่วยถ่ายให้ ทั้งที่เขาก็ใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งในห้าของเวลาที่ผมถ่ายภาพอาจารย์เนาวรัตน์ แต่ผมก็รู้สึกว่ามันช่างยาวนานและหายใจลำบากผิดปกติ แต่ไม่แน่นะครับ อาจารย์เนาวรัตน์ท่านอาจไม่รู้สึกอย่างนั้นก็ได้
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกอิ่มเอิบใจในการทำงานถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติของผม เพราะอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นั้น นอกจากจะเป็นกวีที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว ท่านยังเป็นกวีที่ผมนิยมยกย่อง และชื่นชอบผลงานของท่านเป็นการส่วนตัวอย่างยิ่งอีกด้วย
ถามเอง-ตอบเอง
ถาม ตั้งแต่ที่ได้เริ่มมีการยกย่องศิลปินแขนงต่างๆ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีศิลปินแห่งชาติทั้งสิ้นแล้วจำนวนกี่ท่าน ในจำนวนนี้ มีกี่ท่านที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว และกี่ท่านที่ยังคงมีชีวิตอยู่
ตอบ จนถึงวันนี้ (มีนาคม ๒๕๔๓) มีผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติรวมทั้งสิ้น ๑๓๙ ท่าน ในจำนวนนี้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ๓๗ ท่าน และยังคงมีชีวิตอยู่ ๑๐๒ ท่าน