อ. จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช ๒๕๔๓
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย
ท่านผู้อ่านคงจะยังจำได้ว่าเมื่อคราวที่ผมไปถ่ายภาพคุณยายชื้น สกุลแก้ว ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หุ่นกระบอก) เมื่อราว ๒ ปีก่อนนั้น ผมได้เล่าไว้ว่าผมได้รับความกรุณาจากอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ให้ยืมหุ่นกระบอกเก่าแก่ของครูเปียก ประเสริฐกุลบิดาของคุณยายชื้นที่ท่านนำมาซ่อมแซมใหม่จนสวยงาม เพื่อถ่ายภาพกับคุณยายชื้น ทั้งยังได้อนุญาตให้ใช้สถานที่ในบ้านของท่านเป็นที่ถ่ายภาพด้วย ในครั้งนั้น ผมคิดอยู่ในใจว่า อีกไม่ช้า อาจารย์จักรพันธุ์จะต้องได้เป็นศิลปินแห่งชาติอย่างแน่นอน เพราะผลงานของท่านมีมากมายเหลือคณา และทุกชิ้นล้วนสวยงามสูงค่าทั้งสิ้น ไม่ใช่เพียงผมเท่านั้นที่คิดเช่นนี้ แต่ผู้คนที่ผมพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติด้วยอีกหลายต่อหลายคน ต่างก็มีความเห็นว่าท่านเหมาะสมกับตำแหน่งนี้เป็นที่สุด และบางคนก็คิดว่าท่านเป็นศิลปินแห่งชาติอยู่แล้วด้วยซ้ำ ดังนั้น เมื่อท่านได้เป็นศิลปินแห่งชาติจริงๆ ทุกคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ควรจะได้เป็นตั้งนานแล้ว”
อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๖ ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ ๕๘ ปี ภายหลังจากที่จบการศึกษาทั้งระดับประถม และมัธยมที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว ท่านได้เข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี ๒๕๐๓ และสำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาจิตรกรรม เมื่อปี ๒๕๑๐
อาจารย์จักรพันธุ์มีความรักในการวาดรูปมาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งท่านก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอันดีจากบิดามารดา ที่ต่างก็มีความรักทางด้านศิลปะและการดนตรีด้วยกันทั้ง ๒ ท่าน และขณะที่ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยนั้น ท่านก็ได้แสดงความสามารถทางด้านศิลปะจนเป็นที่ชื่นชมของครูบาอาจารย์ โดยแนวภาพที่ท่านชอบเขียนตั้งแต่ยุคเริ่มแรกมักจะเป็นภาพตัวละครในวรรณคดีและภาพเหมือนบุคคลโดยใช้ทั้งดินสอสี สีน้ำ และสีน้ำมัน
ครั้งหนึ่งขณะที่อาจารย์จักรพันธุ์กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและงานกรีฑาประจำปีของโรงเรียน พระยาภะรตราชา ผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในขณะนั้น ได้นำอาจารย์จักรพันธุ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าฯถวายพระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ด้วย
จากการที่ได้มองเห็นแววแห่งความสามารถและความตั้งใจจริงของอาจารย์จักรพันธุ์ บิดาจึงได้พาท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งท่านศาสตราจารย์ศิลปก็ได้ชี้แนะแนวทางเบื้องต้นในการฝึกฝนวาดเส้นด้วยดินสอ และสอนให้รู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติอันจะช่วยสร้างความเข้าใจในทางศิลปะดียิ่งขึ้น ครั้นจบการศึกษาจากโรงเรียนวชิราวุธแล้ว อาจารย์จักรพันธุ์ก็สามารถสอบเข้าศึกษาที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้สมตามความปรารถนา
ขณะที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น อาจารย์จักรพันธุ์มีผลการเรียนที่ดีเด่น ทำให้ได้รับทุนเรียนดีทุกปี แนวทางในการสร้างสรรค์งานศิลปะของท่านในระยะนั้น ยังคงเน้นการเขียนภาพเหมือน และภาพจิตรกรรมไทยตามความชอบส่วนตัวอยู่ หากแต่พัฒนาไปตามประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติม และด้วยเทคนิคที่หลากหลายขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังได้ทำงานเขียนภาพแนวอื่นๆ อีกด้วย
เมื่อจบการศึกษาแล้ว อาจารย์จักรพันธุ์ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมทั้งแบบไทยประเพณีและเหมือนธรรมชาติ ตลอดจนภาพเหมือนบุคคล ออกสู่สายตาของสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลงานทุกชิ้นของท่านล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นอันเกิดจากอัจฉริยภาพและความรักทุ่มเทในงานนั้นๆ อย่างแท้จริง ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงพื้นฐานความรู้ทางด้านศิลปะ วรรณกรรม พุทธศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์อย่างแตกฉาน ทำให้ได้รับการยกย่องและชื่นชมจากบุคคลในวงการศิลปะและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง ภาพเขียนของท่านเป็นสิ่งสุดปรารถนาของบรรดานักสะสมงานจิตรกรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวาง งานที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านเป็นอย่างมากได้แก่ พระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเจ้านายในพระบรมราชวงศ์จักรีอีกหลายพระองค์ รวมทั้งภาพบุคคลในวงการต่างๆ มากมาย ภาพพุทธประวัติ และภาพเรื่องราวในวรรณคดีอันวิจิตรงดงามที่ปรากฏอยู่ในสถานที่สำคัญของประเทศหลายแห่ง รวมทั้งที่ได้รับการตีพิมพ์ในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัตรอวยพรปีใหม่ ที่ท่านได้อนุญาตมูลนิธิโรงพยาบาลเด็กจัดพิมพ์จำหน่ายเพื่อการกุศลมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และงานสำคัญชิ้นหนึ่งที่อาจารย์จักรพันธุ์ได้เริ่มไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ และยังคงทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ คืองานออกแบบและควบคุมการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดตรีทศเทพวรวิหาร โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติ ซึ่งเขียนเป็นงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณีตามลีลาและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่านเอง
นอกเหนือจากงานด้านจิตรกรรมแล้ว ท่านยังได้สร้างผลงานด้านอื่นๆ อันได้แก่การสร้างหุ่นกระบอก ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการที่เคยได้ชมการแสดงหุ่นกระบอกเรื่องพระอภัยมณีของคณะนายเปียก ประเสริฐกุล ตั้งแต่วัยเด็ก โดยท่านได้ใช้ความสามารถในทางจิตรกรรม ประติมากรรม และวิจิตรศิลป์ คิดประดิษฐ์หุ่นกระบอกอย่างครบวงจรขึ้น เริ่มตั้งแต่การสร้างหุ่น สร้างโรงหุ่น เขียนฉาก ตลอดจนเรียนรู้วิธีการเชิดหุ่นจากครูชื้น สกุลแก้ว และ ครูวงศ์ รวมสุข จนสามารถเชิดได้อย่างถูกต้องงดงาม เรื่องแรกที่ท่านนำออกแสดง คือเรื่อง “พระรถเสน” เมื่อปี ๒๕๑๗ และเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ ในอีกหลายปีต่อมา นอกจากนั้น ท่านยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ซ่อมหุ่นหลวง และหุ่นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา ให้กลับงดงามขึ้นมาใหม่อีกด้วย
งานศิลปะอีกด้านหนึ่งที่อาจารย์จักรพันธุ์มีความสามารถเป็นพิเศษ คืองานด้านประณีตศิลป์ต่างๆ โดยท่านได้นำพื้นฐานความชำนาญด้านจิตรกรรม และการออกแบบลวดลายชั้นครูของท่าน มาประยุกต์ใช้กับงานปักสะดึง กรึงไหม ที่ได้เรียนรู้มาจากครูเยื้อน ภาณุทัต ทำให้ได้งานที่งดงาม อ่อนช้อยอย่างวิเศษ ผลงานทางด้านนี้ได้แก่ย่ามปักไหม แล่งเงิน แล่งทอง ตาลปัตรปักไหม แล่งเงิน แล่งทอง ผ้าห่มละครตัวนาง เครื่องแต่งกายหุ่นกระบอก เครื่องแต่งกายหุ่นหลวง เครื่องแต่งกายหุ่นวังหน้า และม่านเข้า ออก ฉากแสดงหุ่นกระบอกเรื่องสามก๊กตอนโจโฉแตกทัพเรือ เป็นต้น
อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นศิลปินที่ได้อุทิศตนทำงานเพื่ออนุรักษ์ และสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาของไทยมาโดยตลอดจนมีความรู้อย่างลึกซึ้งแตกฉาน ทั้งยังได้เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาวิจัยศิลปะไทยแก่นักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ระยะหนึ่ง นอกจากนั้นยังได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ที่มาฝากตัวขอเป็นศิษย์จนสามารถสร้างผู้ที่มีความสามารถอย่างสูงในเชิงช่างไทยอีกหลายท่าน
ในด้านการจัดแสดงผลงานทางศิลปะนั้น อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เคยจัดแสดงผลงานทั้งที่เป็นการแสดงผลงานเดี่ยว และร่วมจัดแสดงผลงานเป็นกลุ่มกับศิลปินท่านอื่นๆ ดังนี้
- แสดงผลงานเดี่ยวทางด้านจิตรกรรม ที่สมาคมฝรั่งเศส เมื่อปี ๒๕๑๕
-
แสดงผลงานเรื่อง “หุ่นไทย” เนื่องในงานความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และองค์การยูเนสโก ที่โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า เมื่อปี ๒๕๒๙
-
แสดงผลงานเรื่อง “จักรพันธุ์ โปษยกฤต” กับงานหุ่น ที่อาคารเมืองไทยประกันชีวิต เมื่อปี ๒๕๓๓
-
แสดงผลงานกลุ่ม เรื่อง “จิตรกรรมไทยประเพณี” ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ เมื่อปี ๒๕๓๔
นอกจากการจัดแสดงผลงานทางศิลปะดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ยังได้เคยส่งผลงานเข้าประกวด และได้รับรางวัลสำคัญต่างๆ มากมาย ได้แก่
- ภาพ “ชีวิตชนบท” ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดผลงานจิตรกรรมในระดับเตรียมอุดมศึกษา ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี ๒๕๐๒
-
ภาพ “วิสุตา” ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง จากการแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๖ เมื่อปี ๒๕๐๘
-
ภาพ “องค์ประกอบ” ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด ผลงานนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ในการแสดงผลงานนักศึกษา คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี ๒๕๐๘
-
ภาพ “สุวรรณี ๑” ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๒ เหรียญเงิน จากการแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๗ เมื่อปี ๒๕๐๙
-
ภาพ “กลุ่ม” ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๒ เหรียญเงิน จากการแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๙ เมื่อปี ๒๕๑๒
-
ภาพ “ดวงตา” ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๒ เหรียญเงิน จากการแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๐ เมื่อปี ๒๕๑๔
-
ภาพ “หลง” ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๒ เหรียญเงิน จากการแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๑ เมื่อปี ๒๕๑๕
-
ภาพ “คนนั่ง” ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๒ เหรียญเงิน จากการแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๒ เมื่อปี ๒๕๑๖
-
ภาพ “พระลอตามไก่” ภาพ “รจนาเสี่ยงพวงมาลัย” และภาพ “พระอภัยมณีพบนางละเวง”ได้รับรางวัลชนะเลิศภาพจิตรกรรมไทยประเพณี จากการประกวดภาพจากวรรณคดีไทย เพื่อจัดทำเป็นแสตมป์ของกรมไปรษณีย์โทรเลข เมื่อปี ๒๕๑๖
นอกจากอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานอันสูงค่าจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้วอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ยังได้พิสูจน์ให้สาธารณชนโดยทั่วไปประจักษ์ว่า ท่านเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมโดยส่วนรวมตลอดมา ทั้งยังได้ช่วยเหลืองานการกุศลต่างๆ อย่างสม่ำเสมอส่งผลให้ท่านได้รับเกียรติคุณต่างๆ มากมาย ที่สำคัญได้แก่
- ได้รับการยกย่องให้เป็นนายช่างเอกในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ ๒๐๐ ปี เมื่อปี ๒๕๒๕ นับเป็นหนึ่งในจำนวนช่างเอก ๕๒ คน ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
-
ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ หลายแห่ง
-
ได้รับเกียรติบัตรในฐานะเป็นผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมและการดำเนินงานของกรมศิลปากร ด้านอนุรักษ์ สืบทอด และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในโอกาสคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากรครบรอบ ๘๘ ปี จากกรมศิลปากรเมื่อปี ๒๕๔๒
ฯลฯ
จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าว ท่านจึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๓
ครั้งนี้หาใช่ครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสถ่ายภาพ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ไม่ เนื่องจากนับย้อนหลังไป ๑๗ ปีก่อน คือในปี ๒๕๒๗ ขณะที่ผมกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ ๔ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น ผมได้ทำงานศิลปะนิพนธ์ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษา ในหัวข้อ “การออกแบบปฏิทินชุดอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย” ซึ่งเน้นการถ่ายภาพศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรมไทย ทำนองเดียวกันกับการถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติของผมนี้ และอาจารย์จักรพันธุ์ ก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่ผมได้ถ่ายภาพในครั้งนั้น โดยถ่ายภาพท่านขณะกำลังทำหุ่นกระบอก หลังจากนั้นอีกราว ๕ ปี คือในปี ๒๕๓๒ เมื่อผมจบการศึกษาจากต่างประเทศมาใหม่ๆ ผมก็คิดอยากจะถ่ายภาพบุคคลที่น่าสนใจจากหลายๆ วงการ ผมก็ได้ไปขอถ่ายภาพอาจารย์จักรพันธุ์อีกครั้ง ในครั้งนั้น เป็นช่วงที่ท่านกำลังสร้างหุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือพอดี ก็เลยได้ถ่ายภาพท่านกับหุ่นชุดนี้หลายตัว หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อท่านนำหุ่นชุดนี้ไปแสดงที่บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ผมก็ยังได้ไปถ่ายภาพท่านอีก และก็เว้นช่วงไปอีกกว่า ๑๐ ปี จนท่านได้เป็นศิลปินแห่งชาติ จึงได้กลับไปถ่ายภาพท่านอีกครั้ง
การถ่ายภาพอาจารย์จักรพันธุ์ในครั้งล่าสุดนี้ ผมเลือกที่จะถ่ายภาพท่านในฐานะที่เป็นจิตรกร เนื่องจากท่านได้เป็นศิลปินแห่งชาติทางด้านจิตรกรรม และก็สบจังหวะดีที่ในขณะนั้น มีภาพสีน้ำมันอันสวยงามที่ท่านเขียนตั้งอยู่พอดี ผมได้ขออนุญาตอาจารย์จักรพันธุ์ย้ายฉากไม้เขียนสีเป็นเรื่องอิเหนาฝีมือของท่านเองมาเป็นฉากหลัง เพื่อสร้างความสวยงามกลมกลืนให้กับภาพโดยรวม และเพื่อช่วยปิดบังส่วนที่ไม่ต้องการให้เห็น ในตอนแรก ผมอยากให้ท่านใส่เสื้อแบบที่เป็นไทยๆ หรือเป็นเสื้อสีดำ แต่ท่านก็แย้งว่าใครมาถ่ายก็ใส่แบบนั้นทุกครั้ง อยากจะให้แตกต่างไปบ้าง ซึ่งผมก็ตกลงตามที่ท่านต้องการ ผมถ่ายภาพท่านไว้เพียงอิริยาบถเดียวเท่านั้นเนื่องจากคิดว่าเป็นท่าทางที่ดีที่สุดแล้ว อีกทั้งเพราะเกรงใจที่ได้รบกวนทั้งเวลาและโยกย้ายข้าวของท่านอยู่เป็นโกลาหลแต่ก็ได้ภาพอาจารย์จักรพันธุ์ที่น่าพอใจทีเดียว นอกจากภาพที่ถ่ายในคราวนี้แล้ว ผมยังได้นำภาพเก่าที่เคยถ่ายท่านตั้งแต่ครั้งแรกตามที่ได้เล่าไว้มาให้ชมกันด้วย ลองเปรียบเทียบกันดูนะครับว่าระยะเวลา ๑๗ ปี นับตั้งแต่ครั้งแรกถึงครั้งล่าสุด มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ในสายตาของผม ยังรู้สึกว่าอาจารย์จักรพันธุ์เปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก แต่จะดูสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้นเอง
นับเป็นเอกลาภของคนไทยที่มีศิลปินแห่งชาติอย่าง อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ผู้ซึ่งเกิดมาเพื่อสร้างสรรค์ความงดงามอย่างแท้จริง ผลงานที่ท่านสร้างไว้ในวันนี้ ย่อมจะเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดชุดหนึ่งของศิลปกรรมไทยยุครัชกาลที่ ๙ ที่ผู้คนในอีกร้อยปีข้างหน้าต้องมองย้อนกลับมาและกล่าวถึงด้วยความทึ่งและชื่นชมอย่างไม่ต้องสงสัย
ขอขอบคุณ
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เอื้อเฟื้อข้อมูล
บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพ
คุณบันลือ อุตสาหจิต แห่งบริษัทศรีสยามพริ้นท์แอนด์แพคก์ จำกัด อุปถัมภ์โครงการ