หลังคา ส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญของบ้าน นอกจากหลังคาจะมีหน้าที่กันแดด กันฝนแล้ว หลังคาที่สวยงามยังเป็นตัวเสริมความสง่าให้แก่บ้าน หลังคาที่ดีจึงควรมีความแข็งแรง คงทน ใช้การมุงโดยผู้เชี่ยวชาญ การเกยหรือรอยต่อของกระเบื้องจะต้องวางในลักษณะที่ถูกต้องหรือมีการยาแนวอย่างเรียบร้อย และเพราะว่าหลังคาแบบต่างๆนั้นย่อมมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไปวัสดุมุงหลังคาที่จะนำมาใช้จึงต้องเลือกพิจารณาให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานหรือเป็นไปตามแบบโครงสร้างของอาคาร จะเป็นการยืดอายุของวัสดุมุงหลังคาให้ยาวนานด้วย
การเลือกประเภทหลังคาในการใช้งานรูปแบบต่างๆเพื่อให้ตรงตามประเภทการใช้งานนั้น ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักหลังคารูปทรงหลากหลายกันพอสังเขป ดังนี้ หลังคาแบน มีลักษณะแบนราบ ส่วนมากใช้กับหลังคาที่จอดรถ หรือหลังคาคลุมทางเดิน จะไม่เน้นความสวยงาม เพราะใช้งานแบบชั่วคราวเท่านั้น
หลังคาชนิดนี้มีข้อเสียคือ ฝนตกมากๆจะกันฝนไม่ค่อยได้ ส่วนหลังคาทรงจั่ว เป็นที่นิยมกันมากเนื่องจากประหยัดค่าก่อสร้าง สร้างง่าย สวยงาม คงทน ใช้ประโยชน์ได้มาก เน้นความสวยงาม ลูกเล่นสีสรร โดยต้องคำนึงถึงการกำหนดความลาดชันของหลังคาให้เหมาะสมด้วยหรือจะเป็นหลังคาแบบเพิงหมาแหงน ประยุกต์มาจากหลังคาแบบแบนราบ โดยยกด้านหนึ่งของหลังคาให้สูงขึ้น หลังคาชนิดนี้สามารถระบายน้ำฝนได้ดี มองดูแปลกตา นิยมสร้างกับบ้านหลังเล็ก เพราะประหยัดและทำการก่อสร้างได้ง่าย ถ้าหมั่นดูแลรอยรั่วสม่ำเสมอ ปัญหาน้ำฝนรั่วซึมก็จะไม่เกิด
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลังคาเห็นทีจะไม่พ้นเรื่องของหลังคารั่วซึม เมื่อเกิดฝนตก ปัญหาน้ำฝนไหลเข้ามาตามผนังบ้านหรือหยดลงบนฝ้าเพดาน การแก้ไขจึงต้องหาจุดที่น้ำฝนไหลซึมเข้าบ้านให้ได้ก่อนแล้วค่อยหาแนวทางแก้ไขให้ตรงจุด เช่น ถ้าหากเป็นกระเบื้องที่มีรอยแตกร้าวก็ต้องเปลี่ยนกระเบื้องใหม่ กระเบื้องต่อหรือเกยกันไม่สนิทก็รีบแจ้งให้ช่างตรวจสอบและแก้ไขให้เรียบร้อย ปัญหาน้ำฝนไหลเข้าทางหมวกสลักยึด แก้ไขได้คือ เสริมยางรองหมวกสลักเกลียวและขันยึดให้แน่น
ถ้าเป็นกรณีโครงสร้างชำรุด เช่น ทรุด หย่อน ต้องรีบแก้ไขโครงสร้างให้เรียบร้อยและมุงหลังคาใหม่ ตรวจสอบรอยต่อและรอยยาของกระเบื้องให้เรียบร้อย หากเป็นรอยรั่วที่เกิดจากความลาดเอียงของหลังคาน้อยเกินไป ทำให้น้ำฝนไหลย้อนขึ้น มีวิธีการแก้ไขได้คือ การซ้อนกระเบื้องให้สูงขึ้น ยึดกระเบื้องให้แน่นทุกจุด สำหรับความร้อนที่ส่งผ่านมาจากหลังคานั้น ใช้แผ่นสะท้อนความร้อนแบบอลูมิเนียม 2 ด้าน
ซึ่งมีให้เลือกหลายแบบ ด้วยการปูแผ่นฉนวนบนจันทันแล้ววิ่งตีแปทับฉนวนหรือใช้ลวดตาข่ายขึงรองรับฉนวนก่อนปูบนจันทัน ซึ่งสามารถลดอุณหภูมิได้มากถึง 9 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถติดตั้งได้ในระหว่างการก่อสร้างอาคารหรือเพิ่มเติมหลังจากสร้างอาคารเสร็จแล้วก็ได้
ในกรณีเป็นอาคารห้องริม น้ำที่รั่วและหยดจากโครงหลังคา น้ำฝนอาจเข้าบริเวณครีบคอนกรีตที่ปิดตลอดแนวริมของกระเบื้อง ทำให้น้ำฝนหยดลงฝ้าเพดานบริเวณใกล้แนวผนังด้านในหรือไหลย้อยลงมาตามผนัง สาเหตุเกิดมาจากตัวครีบมีรอยแตกร้าว ความกว้างของครีบน้อยเกินไป แก้ไขโดยการใช้ผ้าดิบปิดทับตามแนวแตกร้าวของครีบ พร้อมทาทับด้วยวัสดุประเภทฟลินท์โค็ทก็ได้ แต่เป็นการแก้ปัญหาเพียงชั่วคราวเท่านั้น ทางที่ดีหากมีเวลามากพอจึงควรสกัดซ่อมทำครีบใหม่เป็นการแก้ปัญหาได้ถาวร
ทั้งนี้ถ้าผนังอาคารห้องริมที่มีรอยแตกร้าวภายนอก บริเวณใต้คาน ส่วนต่อของผนังก่ออิฐชนใต้ท้องคาน น้ำฝนจะไหลเข้าตามรอยแตกร้าว การแก้ไขจึงต้องซ่อมรอยแตกร้าว อาจใช้วิธีสกัดผิวพร้อมเสริมลวดตาข่ายและฉาบปูนทับ หรือใช้สีชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติกันน้ำซึมผ่าน มีการยืดหยุ่นตัวได้ดี โดยทาทับรอยบริเวณที่แตกร้าวนั้น ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้วิธีหนึ่ง
นอกจากนี้การสร้างหลังคา ควรคำนึงถึงโครงสร้างเป็นหลัก ควรสร้างเป็นไปตามแบบโครงสร้างอาคารและหลังคาที่กำหนดไว้ การกำหนดการยื่นของชายคาจะต้องได้ขนาดของโครงสร้างว่าควรยื่นได้แค่ไหน ถ้ายื่นมากไปชายคาอาจจะตก ยื่นน้อยไปก็กันแดด กันฝนไม่ได้ ปัญหาเล็กๆน้อยๆก็เกิดขึ้นตามมาให้ตามแก้ไขภายหลัง เสียทั้งเงินและเวลา เพราะฉะนั้นจึงเป็นการดีหากใส่ใจเสียตั้งแต่แรก