ยาต้านการอักเสบ มักมีฤทธิ์ลดอาการปวด บวม บางชนิดลดไข้ได้ด้วยยาในกลุ่มนี้ได้แก่ แอสไพริน (Aspent R) อินโดเมทาซิน (Indocid R) อิบูโปรเฟน (Brufen R) มีเฟนนามิค (Ponstan R) ไพร็อกซิแคม (Feldene R) ไดโคลฟีแน็ก (Voltaren R) เป็นต้น
ยาเหล่านี้ไม่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีอาการข้างเคียง คือ อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด แผลในกระเพาะอาหาร รบกวนการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด (ทำให้เลือดออกง่าย หรือ ทำให้เลือดหยุดยาก) และอาจทำให้เม็ดเลือดขาวหรือไตผิดปกติ
ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ได้แก่ เพร็ดนิโซโลน เบทาเมทาโซน เด็กซาเมทาโซน ฯลฯ ก็มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบได้ และไม่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีอาการข้างเคียงหลายประการและค่อนข้างอันตรายไม่น้อยไปกว่ายา ต้านอาการอักเสบที่กล่าวข้างต้น
ยาอีกกลุ่มหนึ่งที่คนทั่วไปมักเรียกว่า “ยาแก้อักเสบ” (แพทย์และเภสัชกรก็มักคล้อยเรียกตาม ชาวบ้านไปด้วย) ทั้งที่ไม่มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ คือ ยาปฏิชีวนะซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งหรือฆ่าแบคทีเรียเท่านั้น และไม่สามารถกำจัดจุลชีพชนิดอื่นๆ ได้
ยาปฏิชีวนะ เป็นเพียงยากลุ่มหนึ่งในกลุ่มยาต้านจุลชีพ ซึ่งประกอบด้วย ยาปฏิชีวนะ (ต้านแบคทีเรีย) ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส (ไวรัสบางชนิด) และ ยาต้านโปรโตซัว
ถ้าการอักเสบมีสาเหตุจากการติดเชื้อจุลชีพอย่างใดอย่าง หนึ่ง ก็ต้องเลือกใช้ยาต้านจุลชีพให้ถูกชนิด มิฉะนั้นจะไม่เกิดผลการรักษาตามต้องการ และอาจเกิดโทษจากอาการข้างเคียงหรือแพ้ยาได้ นอกเหนือจากการเสียเงินและเสียเวลาเปล่าด้วย
เมื่อจุลชีพต้นเหตุตายหมดแล้ว อาการอักเสบก็จะลดลงจนหายไป (ดูเรื่อง “อาการอักเสบ”) คนทั่วไปจึงเข้าใจไปว่ายาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะเป็นยาแก้อาการอักเสบ
หมายเหตุ
(………………R) คือ ตัวอย่างชื่อการค้า (Registered trademark) ที่รู้จักกันดี ของยาชนิดนั้น