ภาวะการมีบุตรยากที่เกิดจากเพศชาย
คู่แต่งงานคู่ใด ที่ได้พยายามมีบุตรมาเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้วยังไม่สามารถมีบุตรได้ ถือว่าเข้าข่าย มีบุตรยาก ควรต้องมาปรึกษาสูตินรีแพทย์
เพื่อตรวจหาสาเหตุ ของการมีบุตรยาก ซึ่งประมาณ 40% มีสาเหตุมาจากฝ่ายชาย เรามาดูกันว่า มีอะไรบ้างที่ทำให้ฝ่ายชายมีบุตรยาก
อวัยวะสืบพันธุ์ในเพศชาย ประกอบด้วย
1. ลูกอัณฑะ มีอยู่ สองข้าง ทำหน้าที่ในการสร้างตัวเชื้ออสุจิ เพื่อการสืบพันธุ์ และยังมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย
2. ท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของตัวเชื้ออสุจิ จากลูกอัณฑะจนออกมาสู่ภายนอก โดยมีถุงพักน้ำเชื้อที่อยู่ส่วนปลาย
ทำหน้าที่เก็บและหล่อเลี้ยงตัวอสุจิก่อนการหลั่งน้ำเชื้อออกมา
3. องคชาติ เป็นอวัยวะที่บ่งบอกความเป็นผู้ชาย และเป็นทางออกของเชื้ออสุจิ เมื่อมีการหลั่งน้ำเชื้อเกิดขึ้น
สาเหตุของการมีบุตรยาก ในเพศชาย
1. ความผิดปกติของลูกอัณฑะ ที่สำคัญคือ
ก.การมีเส้นเลือดขอดที่ถุงอัณฑะ ซึ่งพบเป็นสาเหตุได้บ่อยที่สุด,
ข. ถุงอัณฑะอยู่ผิดที่ เช่น ไม่ลงมาในถุงอัณฑะ
ค. การอักเสบ ติดเชื้อในลูกอัณฑะ
2. การอุดตันของท่อทางเดินน้ำเชื้อจากการติดเชื้อกามโรคในอดีต หรือ จากการทำหมัน
3. ความผิดปกติที่ตัวองคชาติ เช่น รูปร่างผิดปกติ การไม่แข็งตัวพอที่จะร่วมเพศได้ หรือที่เรียกว่า ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
การตรวจหาสาเหตุของการมีบุตรยาก ในเพศชาย
1. การซักประวัติ เช่น ประวัติความเจ็บป่วยหรือการกระแทกกระทั้นรุนแรงในอดีตต่อบริเวณถุงอัณฑะ ประวัติไส้เลื่อน การทานยาประจำ และ
ประวัติเกี่ยวกับโรคทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
2. การตรวจร่างกาย เพื่อหาความผิดปกติ โดยเฉพาะที่ตัวอวัยวะเพศสืบพันธุ์
3. การตรวจวิเคราะห์น้ำเชื้ออสุจิ เพื่อนับจำนวนตัวอสุจิว่าเพียงพอหรือไม่ และดูความสมบูรณ์,ความแข็งแรงของตัวอสุจิ
ข้อปฏิบัติในการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ เพื่อส่งตรวจหาสาเหตุของการมีบุตรยาก
1. ควรงดร่วมเพศก่อนการเก็บ 2-3 วัน
2. ควรถ่ายปัสสาวะให้หมดก่อนการเก็บ
3. เก็บโดยการมีเพศสัมพันธ์แล้วหลั่งข้างนอก หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง
4. เก็บเชื้อที่ได้ทั้งหมดให้ออกมาอยู่ในขวดแก้วที่สะอาดและแห้ง
5. เก็บน้ำเชื้อที่ได้ไว้ในอุณหภูมิห้อง ไม่ต้องแช่เย็น แล้วนำมาส่งยังที่ตรวจภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง
การป้องกันและรักษาภาวะมีบุตรยากในเพศชาย
1. การป้องกันหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตัวเชื้อ เช่น การติดเชื้อกามโรค การดื่มสุราหรือสูบบุหรี่จัด หรือการใช้ยาต่างๆพร่ำเพรื่อ
2. การรักษาร่างกายให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
3. การรักษาทางยาในกรณีเชื้ออ่อน โดยใช้ยากระตุ้นการสร้างเชื้ออสุจิ หรือการใช้ยากระตุ้นให้องคชาติแข็งตัวในกรณีที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
4. การรักษาโดยการผ่าตัดแก้ไข ความผิดปกติของอัณฑะ หรือองคชาติ การผ่าตัดใส่เครื่องช่วยทำให้องคชาติแข็งตัว
5. ในรายที่เชื้ออสุจิมีน้อยมาก และรักษาโดยวิธีข้างต้นไม่ดีขึ้น อาจต้องใช้กรรมวิธีขั้นสูง เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ อิ๊คซี่ เป็นต้น