โรงเรียน

เราควรจะพบสิ่งใดบ้างที่โรงเรียนใหม่ของลูก

พบว่าเด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ผ่านการเล่น การทำกิจกรรมต่างๆ บรรยากาศเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น สนใจใคร่รู้

เราจะเห็นภาพเด็กๆ ง่วนกับการทำกิจกรรม หรือเล่นอย่างเพลิดเพลิน หน้าตาเบิกบานมีความสุข มีความกระตือรือร้น ไม่ถูกบังคับให้นั่งเรียนเขียนอ่านให้เด็กทำแบบฝึกหัดไปพร้อมๆ กันทั้งชั้นเรียนเหมือนกันไปหมด ใครทำไม่ได้หรือทำงานช้ากว่าเพื่อน ก็โดนตำหนิ หรือถูกทำโทษ

เด็กจะเรียนรู้ผ่านการเล่นและการทำกิจกรรม มีสื่ออุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะสื่อที่เป็นของจริง ให้เด็กได้หยิบจับ สัมผัส ได้สังเกต ลองผิดลองถูกได้คิดวางแผน แก้ปัญหา ค้นหาคำตอบ ได้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม กิจกรรมที่จัดก็มีความหลากหลาย คุณครูจะไม่เอาแต่สอนๆ พูดๆ ให้เด็กนั่งฟัง หรือคอยคำตอบคำถาม เด็กต้องใช้เวลานานนั่งฟังครูพร้อมกันทั้งชั้นเรียน จนมองเห็นได้ว่าเด็กหลายคนในกลุ่มหมดความสนใจ

พบว่าเด็กได้คิด ได้ตัดสินใจเลือก มีเวลาได้ทำกิจกรรมเสรีที่ตอบสนองความสนใจและความถนันดของเด็กเป็นรายบุคคล

จะเห็นว่าเด็กๆ มีโอกาสได้เลือกเล่นกิจกรรมต่างๆ ที่คุณครูจัดไว้ตามมุมการเรียนรู้ต่างๆ ที่คุณครูจัดไว้ตามมุมการเรียนรู้ต่างๆ ของห้องเรียนในเวลาที่เด็กเล่นเสรี มุมที่รายรอบห้องเรียนถูกจัดไว้อย่างน่าเข้าไปเล่น ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความสนใจ ความถนัดของเด็กเช่น มุมบ้าน มุมบล็อก มุมหนังสือ มุมธรรมชาติ มุมศิลปะ มุมคณิตศาสตร์ มุมขีดเขียน ฯลฯ ห้องเรียนจึงไม่ใช่ห้องที่บรรจุเพียงโต๊ะเก้าอี้เท่านั้น

พบว่าเด็กได้เรียนรู้ทักษะวิชาต่างๆ ด้วยการบูรณาการผสมผสานการเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ

ตารางกิจกรรมในแต่ละวัน จะไม่แยกเป็นคาบนี้สอนวิชาภาษาไทย คาบนี้สอนเลข คาบนี้สอนภาษาอังกฤษ แต่จะกำหนดเป็นรูปแบบของกิจกรรม เช่น กิจกรรมวงกลม กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเล่นเสรี กิจกรรมประกอบอาหาร กิจกรรมกลางแจ้ง ฯลฯ

และในแต่ละกิจกรรมก็จะบูรณาการผสมผสานการนับเลข การขีดเขียนไปอย่างผสมผสานกลมกลืน เช่น กิจกรรมประกอบอาหาร “ทำกล้วยต้ม” เด็กใช้กล้ามเนื้อมือปอกกล้วยเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ จากกล้วยดิบเป็นกล้วยต้ม ได้เรียนคณิตศาสตร์การแบ่งครึ่ง ผ่าสองและผ่าสี่ การนับจำนวนผลกล้วย จำนวนชิ้นที่ผ่าหรือหั่น การบันทึกด้วยการวาดภาพประกอบ ขั้นตอนการทำกล้วยต้ม การเล่าเรื่อง การลำดับเหตุการณ์ การพูดแสดงความรู้สึก ก็เป็นการเรียนด้านภาษา เรียนรู้จังหวะจากการร้องเพลงท่องกลอน “กล้วย” ฯลฯ

เด็กจึงเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมากมายไปพร้อมๆ กับการรู้จักรอคอยการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม รักการทำงานสนุกสนานเพลิดเพลิน ส่งผลให้เด็กได้พัฒนาด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ สังคมไปพร้อมๆ กัน

พบว่ามีการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และยอมรับผลงานที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน

อาจจะสังเกตจากการส่งเสริมให้เด็กได้กล้าแสดงออก กล้าซักถามครูรับฟังความคิดเห็นของเด็ก ได้ใช้จิตนาการและความคิดสร้างสรรค์ อาจจะสังเกตผลงานที่ติดอยู่ในห้องเรียนได้ด้วย สังเกตว่าพื้นที่บอร์ดในห้องส่วนใหญ่ควรเป็นผลงานของเด็กเพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ ไม่ใช่ตกแต่งห้องด้วยฝีมือครูส่วนใหญ่ ผลงานของเด็กมีความหลากหลายและแตกต่างกัน สังเกตได้ว่ายๆ จากผลงานศิลปะที่ไม่ควรเป็นผลงานศิลปะที่ไม่ควรเป็นผลงานศิลปะทีเกิดจากการลอกแบบทำตามอย่างครู ซึ่งทำให้ผลงานของเด็กเหมือนกันไปหมดทั้งห้อง

พบว่าเด็กอยู่ในบรรยากาศที่อบอุ่น เป็นมิตร การแสดงออกของครูเป็นไปในทางบวก เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก

ท่าทีทึ่แสดงออกของครูนุ่มนวล ไม่ตะโกนแข่งกับเสียงเด็ก ห้องเรียนไม่วุ่นวาย สับสน หรือสงบนิ่งกับการทำแบบฝึกหัดกันทั้งห้อง แต่จะเห็นภาพเด็กง่วนกับการทำงาน รู้หน้าที่ มีวินัยในตนเอง รับผิดชอบงาน ครูไม่ใช่คอยออกคำสั่งหรือตั้งเงื่อนไขที่เข้มงวด ตำหนิ เปรียบเทียบประชดประชันกัน ใช้อำนาจและการขู่กับเด็ก แต่ครูจะดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด คอยให้กำลังใจ ชื่นชม กระตุ้น สนับสนุนให้เด็กคิด ทดลองทำ และพัฒนาการทำงานของตน ควบคู่กับการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและทำงานร่วมกับผู้อื่น

พบว่าเด็กควรได้รับการเอาใจใส่ฝึกฝนในการสร้างจิตใจที่ดีงามและพฤติกรรมความเคยชินที่ดี จนกลายเป็นนิสัยที่ดีต่อไปในอนาคต

ให้สังเกตว่าเด็กรู้หน้าที่ช่วยเหลืองานส่วนรวม ช่วยกันเก็บของเล่นช่วยกันดูแลความสะอาดในห้อง มีวินัย การรอคอย มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน นอกจากสังเกตจากเด็กแล้วให้สังเกตจากการฝึก การกระตุ้นให้เด็กคิด ตลอดจนการเป็นแบบอย่างของครูด้วย

จะเห็นได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมและกิจวัตรประจำวันให้เด็ก เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะทำให้เด็กเกิดทักษะในการแสวงหาความรู้ รักการเรียนรู้ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กครบทุกด้าน เด็กมีความสุข มีลักษณะนิสัยที่ดีงาม หากเด็กต้องเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับการเร่งเรียนเขียนอ่าน จะทำให้เสียโอกาสทองในช่วงสำคัญของชีวิตที่เป็นช่วงวัยของการปูพื้นฐานในทุกด้านอย่างน่าเสียดาย

ในการเลือกโรงเรียนขอให้สังเกตและพิจารณาให้รอบคอบ ถึงสิ่งสำคัญที่จะปูพื้นฐานของชีวิตในอนาคตให้ชัดเจนก่อนที่จะมองเพียงตึกสวยๆ อุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย กิจกรรมหรือโปรแกรมเสริมพิเศษต่างๆ โรงเรียนเล็กๆ ใกล้กับครูที่เอาใจใส่และเข้าใจพัฒนาการเด็ก อาจจะเป็นโรงเรียนที่ดีสำหรับลูกก็ได้

เรื่องโดย ธิดา พิทักษ์สินสุข

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.